- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 24 September 2014 23:11
- Hits: 2469
ก.เกษตรฯ รุกเชื่อมโยงตลาดลำไย ยกระดับการตลาดช่วยเกษตรกรไทย
ก.เกษตรฯ รุกกิจกรรมการตลาดเชื่อมโยงการผลิต และประชาสัมพันธ์การบริโภคลำไยในรูปแบบใหม่กับ 12 จังหวัดปลายทาง ภายใต้โครงการยกระดับการแข่งขันสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและสร้างมูลค่า เพิ่ม เผย ประสบผลสำเร็จดีเยี่ยม พร้อมลุยขับเคลื่อนด้านการตลาด ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ในวงกว้างมากขึ้นเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาราคาลำไย
นายอนุสรณ์ พรชัย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเขต 1 (สศข.1) เชียงใหม่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกัน ว่าลำไยจะออกผลผลิตมากในช่วงเดือน ก.ค.–ส.ค. ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือราคามักตกต่ำ ตลาดเป็นของผู้ซื้อต่างประเทศ และพบว่า คนไทยบริโภคลำไยน้อยมาก เพียงร้อยละ 6 เท่านั้น ดังนั้นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้มากขึ้นจึงเป้นสิ่งสำคัญ สศข.1 จึงกิจกรรมการตลาดเชื่อมโยงการผลิตระหว่างผู้ผลิต ผู้แปรรูป ผู้รวบรวม และประชาสัมพันธ์การบริโภคลำไยในรูปแบบใหม่ กับจังหวัดปลายทาง 12 จังหวัด ภายใต้โครงการยกระดับการแข่งขันสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและสร้างมูลค่า เพิ่ม ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ในปีงบประมาณ 2557 เพื่อประชาสัมพันธ์และหวังให้เกิดการเจรจาซื้อขายลำไยและผลิตภัณฑ์ลำไย ระหว่างจังหวัดต้นทางและปลายทาง โดยได้เริ่มดำเนินการเชื่อมโยงตลาดฯ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.–7 ก.ย.2557 ในพื้นที่ปลายทางได้แก่ อุดรธานี หนองคาย นครพนม ชลบุรี ระยอง ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา(หาดใหญ่) ตรัง กระบี่ และภูเก็ต
สำหรับ รูปแบบการดำเนินงาน ของกิจกรรมฯ เป็นการนำกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตลำไยคุณภาพ ทั้งในฤดูและนอกฤดู ผู้รวบรวม ผู้แปรรูปลำไยอบแห้งทั้งเปลือก ลำไยสีทองและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากลำไย ได้แก่ เค้กลำไย บราวนี่ลำไย คุกกี้ลำไย ท๊อฟฟีลำไย ชาลำไย กาแฟลำไย โกโก้ลำไย ลำไยอบกรอบ ลำไยแกะเปลือก ลำไยผง น้ำผึ้งดอกลำไย ที่มีมาตรฐาน Gap, Organic Thailand และ อย. โดยเดินทางเชื่อมโยงตลาดฯ ครั้งละ 3 จังหวัด และมีการบูรณาการงานกับสำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานจังหวัด และสำนักงานการค้าภายใน จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน
ผลจากการเชื่อมโยงตลาดและประชาสัมพันธ์การบริโภคลำไยทั้ง 12 จังหวัด ช่วยให้ผู้บริโภคและผู้ค้าเข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริงของลำไยและบริโภคอย่าง ไรให้ได้ประโยชน์สูงสุดและบริโภคให้หลากหลายและได้รสชาติ เป็นสิ่งที่จำเป็นและควรดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไปในวงกว้างให้มากขึ้น เกิดการเจราจาคู่ค้าเพื่อจะทำการซื้อขาย ทั้งลำไยสด อบแห้งทั้งเปลือก สีทอง และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปจำหน่าย เพื่อทดลองตลาดในระยะแรกก่อน
การเชื่อมโยงครั้งนี้ ได้มีการพบปะทั้งผู้ค้าส่งรายใหญ่ ในภาคใต้ที่เป็นผู้จัดหาสินค้า และกระจายสินค้าสู่ร้านของกิน ของฝากทั่วภาคใต้ เช่น สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง นอกจากนี้ ยังขยายไปถึงภาคอีสาน ได้แก่ เช่น อุดรธานีและหนองคาย รวมทั้ง ชลบุรี และ ระยอง ซึ่งนับเป็นเมืองอุตสาหกรรม ก็ยินดีให้นำสินค้าไปจำหน่ายเช่นกัน
กล่าวได้ว่าการไปเชื่อมโยงตลาด และประชาสัมพันธ์การบริโภคลำไยทั้ง 12 จังหวัดในครั้งนี้ ประสบผลสำเร็จอย่างมาก ทุกๆ จังหวัดปลายทางยินดีทำธุรกิจร่วมกัน พร้อมทั้งเอื้อเฟื้อในการแนะนำเครือข่ายอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่ง สศข.1 จะศึกษาและปรับปรุงรูปแบบการขับเคลื่อนด้านการตลาด การเจรจาคู่ค้า ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภค ผู้ค้าได้เข้าใจและเข้าถึงคุณค่าของลำไยอย่างแท้จริง ในวงกว้างมากขึ้นต่อไป