WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1aaaA1A

กลุ่มเกษตรกร 100 ราย แห่พบผู้ตรวจการแผ่นดิน วอนพิจารณาอย่างเป็นธรรม

    เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง และกลุ่มเกษตรปลูกผัก ผลไม้ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย กว่า 100 ราย ยื่นหนังสือถึง พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาอย่างเป็นธรรม ในการอนุมัติให้ใช้สารพาราควอต ย้ำ สารเคมีไม่ผิด หากใช้อย่างเหมาะสม

     นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง เปิดเผยว่า "หลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้แสดงความคิดเห็นต่อการยกเลิกใช้สารพาราควอต ซึ่งขัดแย้งกับ มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้จำกัดการใช้ โดยให้สามารถใช้ได้ภายใต้การควบคุมอย่างเหมาะสมนั้น เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับข้อมูลอย่างถูกต้อง เป็นกลาง จึงได้รวบรวมข้อมูลและมานำเสนอ อ้างอิงจากแหล่งข้อมูลทางวิชาการ ห้องปฏิบัติการกลางที่มีเครื่องมือตรวจสอบและได้รับมาตรฐานสากล ร่วมกับประสบการณ์จริงของเกษตรที่ไม่เคยประสบปัญหาด้านสุขภาพตามข้อกล่าวอ้างต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมแสดงผลการตรวจสอบวิเคราะห์ดินและน้ำจากหนองบัวลำภู โดยความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู “ไม่พบการตกค้างของสารพาราควอต”ตามที่ เอ็นจีโอ เคยกล่าวอ้าง

      นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวเสริมว่า ข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของสารพาราควอตได้รับการพิจารณาแล้วว่า ไม่เป็นความจริง เพราะขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และหลักฐานพิสูจน์ โดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีฯ ซึ่งมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จึงอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน หยุดทำร้ายเกษตรกรทั่วประเทศ ด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ อย่าฟังความข้างเดียว เปิดใจรับข้อเท็จจริงทั้งสองด้าน และอย่าซ้ำเติมด้วยปัญหาใหม่ที่ส่งผลกระทบทำลายชีวิตเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 5 ล้านครอบครัว และเกษตรกรรายย่อย 17-20 ล้านคน

      ปัจจุบัน ผลผลิตทางการเกษตรตก ราคาต่ำ ต้นทุนเพิ่ม การออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ เกษตรกรหวังว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะรับฟังและตัดสินอย่างเป็นกลาง โดยใช้ข้อเท็จจริงมากกว่าความคิดเห็น แม้ว่าความจริง 'แรงจอบ แรงเสียม คงไม่ทัดเทียม แรงปากกา ของท่าน'

 

แบน 10 เหตุผล ที่ไม่เอาสารพาราควอต

   พาราควอต เป็นสารพิษทางการเกษตรที่มีการต่อต้านกันทั่วโลก สำหรับประเทศไทยแม้มีการออกประกาศยกเลิกไปแล้วก็ตาม แต่ก็มีผู้เสียผลประโยชน์พยายามเคลื่อนไหวให้ทบทวนคำสั่งดังกล่าว

      จากรายงานของมหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่าสารพาราควอต มีความเป็นพิษและกระบวนการทำงานคือจะถูกดูดซึมอย่างช้าๆในทางเดินอาหาร และผิวหนังปกติ ยกเว้นถ้าผิวหนังมีแผลการดูดซึมจะมากขึ้น จนทำให้เกิดการเป็นพิษได้ พาราควอตจะดูดซึมเข้าไปในเลือด จะกระจายไปอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆเช่น ตับ ไต และปอดเป็นต้น สะสมเป็นพิษจนไตวายได้

     ตั้งแต่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงได้มีมติ ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส โดยถูกกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิด 4 ที่ไม่อนุญาตให้มีการใช้อย่างเด็ดขาด ก็มีความพยายามเคลื่อนไหวของภาคเอกชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้รัฐบาล “ยกเลิกมติ” ดังกล่าว ขณะนี้มีตัวแทนจากภาค NGO ตลอดจนสายงานสาธารณสุขออกมาให้ความรู้ถึงพิษภัยของ พาราควอตไว้ 10 ประการดังนี้

     1.พิษเฉียบพลันสูง หากเข้าทางปากเพียง 1 ช้อนชามีฤทธิ์ถึงตาย และหากเกิดการสัมผัสประมาณ 10-15 % จากผิวหนังที่เกิดจากอุบัติเหตุระหว่างการใช้สารดังกล่าวก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

      2.ก่อโรคพาร์กินสัน จากสถิติที่ผ่านมาคนเอเชียในการใช้สารดังกล่าวทางการเกษตร จึงมีโอกาสเสี่ยงมากกว่า 11 เท่า

      3.สารนี้จะตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งสารดังกล่าวส่งผลกระทบกับแม่และทารกแรกเกิดหากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารดังกล่าวเจือปน นอกจากนี้สารดังกล่าวยังเป็นตัวทำลายจุลินทรีย์ในดิน ดึงปุ๋ยไนโตรเจน ซึ่งเป็นสาระสำคัญของพืช และจากการวิจัยเชื่อว่าอาจสัมพันธ์กับโรคเนื้อเน่า

       4.สารดังกล่าวมีประเทศไม่น้อยกว่า 53 แห่งได้ประกาศยกเลิกไปแล้ว เช่น อังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศผู้คิดค้นสารดังกล่าว สวิส(ประเทศเจ้าของตลาด) จีน (ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่) และบราซิล (หนึ่งในประเทศที่เคยมีการใช้มากที่สุด) อีก 16 ประเทศได้มีการจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด และที่เหลือคือประเทศที่มีกฎหมายอ่อนแอ

       5.ตลาดปฏิเสธ สินค้าเกษตรจากฟาร์มที่ใช้พาราควอตเช่น RSPO (ปาล์ม) บริษัทส่งออกไม้ผลยักษ์ใหญ่ของโลก และห้างค้าปลีกในยุโรป ต่างให้การปฏิเสธไม่ขอรับสินค้าดังกล่าวไปจำหน่าย

       6.UN ประณามผู้ส่งออก ผู้ตรวจการด้านสิทธิมนุษยชนประณามประเทศที่ตนเองห้ามใช้ แต่ส่งออกประเทศอื่นต้องรับความเสี่ยง

      7.ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงาน 4 หน่วยงานองกระทรวงได้เสนอแบนไม่ให้ใช้สารดังกล่าว

      8.สภาเกษตรแห่งชาติ และ สช. สนับสนุนให้เลิกใช้ ร่วมกับประชาชน 369 องค์กรจาก 50 จังหวัดทั่วประเทศ ในขณะที่ผู้คัดค้านคือ บรรษัทสารพิษ องค์กรบังหน้าและผู้ว่าจ้างให้คนอื่นฉีดพ่นรับความเสี่ยงตายแทน

     9.ซีพี/มิตรผล ประกาศถอย ประธานซีพีกรุ๊ป แถลงพร้อมยุติการขายพาราควอต ส่วนมิตรผลติดป้ายไม่สนับสนุนการใช้

    10.มีวิธีการจัดการวัชพืชที่ดีกว่า /คุ้มกว่าพาราควอต ม.เกษตรศาสตร์และกรมวิชาการเกษตร พบว่าในกรณีอ้อย การใช้จอบหมุนติดแทรกเตอร์ ต้นทุนต่ำกว่าและให้ผลผลิตที่มากกว่า กรมวิชาการเกษตรวิจัยใน 7 จังหวัด พบว่าในกรณีมันสำปะหลัง การใช้สารอื่นมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าพาราควอต งานวิจัยในมาเลเซียและอินโดนีเซียพบว่ามีสารอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่า คุ้มค่ากว่า บริษัทปาล์มยักษ์ใหญ่ของโลกกว่า 14 ล้านไร่ ใช้วิธีการอื่นทดแทนพาราควอต

    ถึงเวลา...แล้วหรือยังที่ผู้บริโภค ซึ่งมีผลโดยตรงต่อสุขภาพที่ได้จากสารดังกล่าว จำเป็นต้องออกมาแสดงจุดยืนต่อการใช้สารพาราควอตในภาคการเกษตรของไทย...

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!