- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 24 January 2019 16:46
- Hits: 4133
กลุ่มเกษตรกร 100 ราย แห่พบผู้ตรวจการแผ่นดิน วอนพิจารณาอย่างเป็นธรรม
เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง และกลุ่มเกษตรปลูกผัก ผลไม้ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย กว่า 100 ราย ยื่นหนังสือถึง พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาอย่างเป็นธรรม ในการอนุมัติให้ใช้สารพาราควอต ย้ำ สารเคมีไม่ผิด หากใช้อย่างเหมาะสม
นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง เปิดเผยว่า "หลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้แสดงความคิดเห็นต่อการยกเลิกใช้สารพาราควอต ซึ่งขัดแย้งกับ มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ให้จำกัดการใช้ โดยให้สามารถใช้ได้ภายใต้การควบคุมอย่างเหมาะสมนั้น เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้รับข้อมูลอย่างถูกต้อง เป็นกลาง จึงได้รวบรวมข้อมูลและมานำเสนอ อ้างอิงจากแหล่งข้อมูลทางวิชาการ ห้องปฏิบัติการกลางที่มีเครื่องมือตรวจสอบและได้รับมาตรฐานสากล ร่วมกับประสบการณ์จริงของเกษตรที่ไม่เคยประสบปัญหาด้านสุขภาพตามข้อกล่าวอ้างต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมแสดงผลการตรวจสอบวิเคราะห์ดินและน้ำจากหนองบัวลำภู โดยความร่วมมือจากกรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภู “ไม่พบการตกค้างของสารพาราควอต”ตามที่ เอ็นจีโอ เคยกล่าวอ้าง
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวเสริมว่า ข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของสารพาราควอตได้รับการพิจารณาแล้วว่า ไม่เป็นความจริง เพราะขาดข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ และหลักฐานพิสูจน์ โดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีฯ ซึ่งมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จึงอยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน หยุดทำร้ายเกษตรกรทั่วประเทศ ด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ อย่าฟังความข้างเดียว เปิดใจรับข้อเท็จจริงทั้งสองด้าน และอย่าซ้ำเติมด้วยปัญหาใหม่ที่ส่งผลกระทบทำลายชีวิตเกษตรกรทั่วประเทศกว่า 5 ล้านครอบครัว และเกษตรกรรายย่อย 17-20 ล้านคน
ปัจจุบัน ผลผลิตทางการเกษตรตก ราคาต่ำ ต้นทุนเพิ่ม การออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ เกษตรกรหวังว่า ผู้ตรวจการแผ่นดิน จะรับฟังและตัดสินอย่างเป็นกลาง โดยใช้ข้อเท็จจริงมากกว่าความคิดเห็น แม้ว่าความจริง 'แรงจอบ แรงเสียม คงไม่ทัดเทียม แรงปากกา ของท่าน'
แบน 10 เหตุผล ที่ไม่เอาสารพาราควอต
พาราควอต เป็นสารพิษทางการเกษตรที่มีการต่อต้านกันทั่วโลก สำหรับประเทศไทยแม้มีการออกประกาศยกเลิกไปแล้วก็ตาม แต่ก็มีผู้เสียผลประโยชน์พยายามเคลื่อนไหวให้ทบทวนคำสั่งดังกล่าว
จากรายงานของมหาวิทยาลัยมหิดลระบุว่าสารพาราควอต มีความเป็นพิษและกระบวนการทำงานคือจะถูกดูดซึมอย่างช้าๆในทางเดินอาหาร และผิวหนังปกติ ยกเว้นถ้าผิวหนังมีแผลการดูดซึมจะมากขึ้น จนทำให้เกิดการเป็นพิษได้ พาราควอตจะดูดซึมเข้าไปในเลือด จะกระจายไปอยู่ตามเนื้อเยื่อต่างๆเช่น ตับ ไต และปอดเป็นต้น สะสมเป็นพิษจนไตวายได้
ตั้งแต่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงได้มีมติ ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส โดยถูกกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิด 4 ที่ไม่อนุญาตให้มีการใช้อย่างเด็ดขาด ก็มีความพยายามเคลื่อนไหวของภาคเอกชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้รัฐบาล “ยกเลิกมติ” ดังกล่าว ขณะนี้มีตัวแทนจากภาค NGO ตลอดจนสายงานสาธารณสุขออกมาให้ความรู้ถึงพิษภัยของ พาราควอตไว้ 10 ประการดังนี้
1.พิษเฉียบพลันสูง หากเข้าทางปากเพียง 1 ช้อนชามีฤทธิ์ถึงตาย และหากเกิดการสัมผัสประมาณ 10-15 % จากผิวหนังที่เกิดจากอุบัติเหตุระหว่างการใช้สารดังกล่าวก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
2.ก่อโรคพาร์กินสัน จากสถิติที่ผ่านมาคนเอเชียในการใช้สารดังกล่าวทางการเกษตร จึงมีโอกาสเสี่ยงมากกว่า 11 เท่า
3.สารนี้จะตกค้างในสิ่งแวดล้อม ซึ่งสารดังกล่าวส่งผลกระทบกับแม่และทารกแรกเกิดหากอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารดังกล่าวเจือปน นอกจากนี้สารดังกล่าวยังเป็นตัวทำลายจุลินทรีย์ในดิน ดึงปุ๋ยไนโตรเจน ซึ่งเป็นสาระสำคัญของพืช และจากการวิจัยเชื่อว่าอาจสัมพันธ์กับโรคเนื้อเน่า
4.สารดังกล่าวมีประเทศไม่น้อยกว่า 53 แห่งได้ประกาศยกเลิกไปแล้ว เช่น อังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศผู้คิดค้นสารดังกล่าว สวิส(ประเทศเจ้าของตลาด) จีน (ประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่) และบราซิล (หนึ่งในประเทศที่เคยมีการใช้มากที่สุด) อีก 16 ประเทศได้มีการจำกัดการใช้อย่างเข้มงวด และที่เหลือคือประเทศที่มีกฎหมายอ่อนแอ
5.ตลาดปฏิเสธ สินค้าเกษตรจากฟาร์มที่ใช้พาราควอตเช่น RSPO (ปาล์ม) บริษัทส่งออกไม้ผลยักษ์ใหญ่ของโลก และห้างค้าปลีกในยุโรป ต่างให้การปฏิเสธไม่ขอรับสินค้าดังกล่าวไปจำหน่าย
6.UN ประณามผู้ส่งออก ผู้ตรวจการด้านสิทธิมนุษยชนประณามประเทศที่ตนเองห้ามใช้ แต่ส่งออกประเทศอื่นต้องรับความเสี่ยง
7.ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขและคณะทำงาน 4 หน่วยงานองกระทรวงได้เสนอแบนไม่ให้ใช้สารดังกล่าว
8.สภาเกษตรแห่งชาติ และ สช. สนับสนุนให้เลิกใช้ ร่วมกับประชาชน 369 องค์กรจาก 50 จังหวัดทั่วประเทศ ในขณะที่ผู้คัดค้านคือ บรรษัทสารพิษ องค์กรบังหน้าและผู้ว่าจ้างให้คนอื่นฉีดพ่นรับความเสี่ยงตายแทน
9.ซีพี/มิตรผล ประกาศถอย ประธานซีพีกรุ๊ป แถลงพร้อมยุติการขายพาราควอต ส่วนมิตรผลติดป้ายไม่สนับสนุนการใช้
10.มีวิธีการจัดการวัชพืชที่ดีกว่า /คุ้มกว่าพาราควอต ม.เกษตรศาสตร์และกรมวิชาการเกษตร พบว่าในกรณีอ้อย การใช้จอบหมุนติดแทรกเตอร์ ต้นทุนต่ำกว่าและให้ผลผลิตที่มากกว่า กรมวิชาการเกษตรวิจัยใน 7 จังหวัด พบว่าในกรณีมันสำปะหลัง การใช้สารอื่นมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าพาราควอต งานวิจัยในมาเลเซียและอินโดนีเซียพบว่ามีสารอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่า คุ้มค่ากว่า บริษัทปาล์มยักษ์ใหญ่ของโลกกว่า 14 ล้านไร่ ใช้วิธีการอื่นทดแทนพาราควอต
ถึงเวลา...แล้วหรือยังที่ผู้บริโภค ซึ่งมีผลโดยตรงต่อสุขภาพที่ได้จากสารดังกล่าว จำเป็นต้องออกมาแสดงจุดยืนต่อการใช้สารพาราควอตในภาคการเกษตรของไทย...