- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 11 January 2019 23:31
- Hits: 11300
ส่อง 5 นวัตกรรมแปลงร่าง 'ข้าวไทย'สู่อินโนเวชั่นล้ำสมัยปลุกไอเดียธุรกิจเกษตรสมัยใหม่ด้วย 'ความแตกต่าง'
ปัจจุบันพบว่า สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากการปลูกข้าวและการแปรรูปให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นกลางเพื่อส่งออกและบริโภคนั้น ยังมีการทำข้าวนวัตกรรมเพื่อเป็นทางออกในการลดการแข่งขันด้านราคา รวมถึงรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและมีความเฉพาะกลุ่มมากขึ้น (Niche Market) ไม่ว่าจะเป็น วิถีชีวิตที่เร่งรีบ เทรนด์การดูแลสุขภาพ การเน้นคุณภาพและความปลอดภัย การประยุกต์สู่ผลิตภัณฑ์ที่นอกเหนือจากการนำไปบริโภค ฯลฯ โดยการทำข้าวนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่จะต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตข้าวไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มช่องทางการบริโภคข้าวให้มากขึ้น พร้อมโอกาสในการเข้าถึงตลาดต่างๆที่ใหญ่ขึ้นได้เช่นกัน
กว่า 10 ปีที่ผ่านมา สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้ร่วมกับมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดการประกวดรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยขึ้น โดยกิจกรรมนี้นับว่ามีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะทำให้แต่ละปีได้มีสินค้านวัตกรรมที่ผลิตจากข้าวออกสู่ตลาดหลากหลายประเภท ทั้งกลุ่มเวชภัณฑ์และยารักษาโรค กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ อาหารเพื่อสุขภาพ ข้ามไปถึงอุปกรณ์เพื่อการสร้างบ้าน และวันนี้ใครที่ยังคิดว่าข้าวมีไว้เพียงเพื่อจำหน่ายและรับประทานแล้วล่ะก็ คงต้องขอให้กลับไปสำรวจตามห้างร้านตลาดกันดูใหม่ เพราะว่าชั่วโมงนี้ข้าวไทยไปไกลกว่าที่เราคิดไว้เยอะ ส่วนจะมีอะไรที่น่าสนใจบ้างนั้นตามไปดูพร้อมๆกันได้เลย
เริ่มกันที่ รางวัลชนะเลิศจากปี 2561 ซึ่งเป็นปีล่าสุดกับผลงาน 'KD Care : ข้าวหอมโปรตีนต่ำพร้อมรับประทาน'ได้ยินแล้วอาจจะคิดว่าเป็นข้าวเพื่อใช้ในการไดเอท หรือควบคุมแคลอรี่สำหรับผู้ที่กำลังลดน้ำหนัก แต่จริงๆแล้วนวัตกรรมข้าวชิ้นนี้ถูกคิดค้นมาเพื่อผู้ที่กำลังมีปัญหาด้านสุขภาพในกลุ่มผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โดยกลุ่มผู้คิดค้นจากบริษัท ไทย นิวทริชั่น เทคโนโลยี จำกัด ได้นำข้าวหอมปทุมธานีซึ่งมีโปรตีนอยู่ระหว่างร้อยละ 5 – 8 มาผ่านกระบวนการย่อยโปรตีนด้วยเอนไซม์ แล้วนำไปทำแห้ง ซึ่งข้าวที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวมีปริมาณโปรตีนน้อยกว่า 1.19 กรัมต่อ 100 กรัม แล้วนำข้าวที่ได้มาบรรจุใน retort cup แล้วผ่านกระบวนการสเตอริไลส์เป็นข้าวพร้อมรับประทาน ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคไต คือ ถ้าปริมาณโปรตีนในข้าวที่รับประทานลดลง จะทำให้ผู้ป่วยสามารถรับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้เพิ่มขึ้น เพราะผู้ป่วยต้องการกรดอะมิโนจำเป็นจากเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพดีไม่ใช่จากพืช
ถัดมาเป็นผลงานนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากปี 2560 ขอบอกเลยว่านวัตกรรมชิ้นนี้มีความว้าวไม่แพ้กันกับผลงานชิ้นแรก เพราะนี่คือ 'GANFAI (Green and Fire Retardant Acoustic Decorative Item)'นวัตกรรมระดับโลกด้านผลิตภัณฑ์ฉนวนกันความร้อนและดูดซับเสียงสำหรับตกแต่งอาคารและที่อยู่อาศัย และเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกให้กับสถาปนิกและวิศวกร โดยนวัตกรรมชิ้นนี้ทำมาจากฟางข้าวและเยื่อกระดาษ ประกอบด้วยขั้นตอนการการเตรียมแผ่นฉนวนโดยส่วนผสมฟางข้าวกับเยื่อกระดาษในอัตราส่วน 1 : 1 ถึง 4 : 1 แล้วอัดขึ้นรูปโดยแม่พิมพ์ จากนั้นแช่ในสารละลายสารหน่วงไฟ แล้วอบแห้ง ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติน้ำหนักเบาความหนาแน่น 0.12 – 0.18 กรัมต่อลูกบาศก์เซนติเมตร มีค่าความทนแรงดึงสูงสุดถึง 150 นิวตันต่อเซนติเมตร มีค่าสัมประสิทธิ์การนำความร้อนเพียง 0.028 – 0.088 วัตต์ มีค่าความต้านการลุกไหม้ ตามมาตรฐาน ISO 5657 : 1997 ว่ากันว่าความน่าสนใจของนวัตกรรมชิ้นนี้ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับฟางข้าวได้กว่า 70 เท่ากันเลยทีเดียว
ข้ามมาดูผลงานที่มีความก้าวล้ำในวงการวิทยาศาสตร์กันบ้างกับ 'BR Staining Kit : ชุดย้อมสีจากข้าวเหนียวดำสำหรับประเมินรูปร่างอสุจิและงานนิติวิทยาศาสตร์’ ผลงานชิ้นนี้เป็นนวัตกรรมระดับโลก ที่นำไปใช้เป็นสีย้อมสำหรับประเมินรูปร่างอสุจิซึ่งเป็นปัจจัยในการพิจารณาภาวะมีบุตรยาก งานนิติวิทยาศาสตร์ในการย้อมตัวอย่างจากเศษผ้าที่เปื้อนคราบอสุจิ หรือตัวอย่างสำลีป้ายช่องคลอดจากคดีข่มขืน ด้วยการนำข้าวเหนียวดำมาสกัดด้วยน้ำที่มีส่วนผสมของ Potassium alum กรดซิตริก และเอทานอล
ในกรณีย้อมสีประเมินรูปร่างอสุจิ หรือสกัดด้วยน้ำที่มีส่วนผสมของ Potassium alum ในกรณีย้อมสีตัวอย่างผ้าที่เปื้อนคราบอสุจิ ทดแทนสีสังเคราะห์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ และทดแทนสี Hematoxylin ซึ่งได้มาจากต้นไม้ Log Wood โดยสีย้อมจากข้าวเหนียวดำให้ผลไม่ต่างจากสีสังเคราะห์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีความน่าสนใจพี่พบว่าข้าวเหนียวดำ 1 กก. ราคา 50 – 80 บาท สามารถผลิตสีย้อมได้ 250 มิลลิลิตร จำหน่ายในราคา 500 บาท มีขั้นตอนการย้อมสีเพียง 9 ขั้นตอน เมื่อเปรียบเทียบกับสีสังเคราะห์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันราคาอยู่ที่ 5,000 บาท มีขั้นตอนการย้อม 20 ขั้นตอน นวัตกรรมชิ้นนี้จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อศูนย์บริการหน่วยผู้มีบุตรยากภาครัฐและเอกชน ห้องปฏิบัติการตรวจพิสูจน์หลักฐาน รวมถึงห้องปฏิบัติการตรวจวัตถุพยานจากคดีข่มขืน
เอาใจคนรักสวยรักงามกันสักหน่อยกับวัตกรรม 'HERBALIST SIAM : RED JASMINE RICE PHYTO CELL SERIES' จาก บริษัท วธูธร จำกัด ผลงานชิ้นนี้เป็นนวัตกรรมระดับประเทศด้านการนำสารสกัดจากแคลลัสข้าวหอมมะลิแดง ที่มีสารสำคัญในกลุ่มของ Phenolic Compound, Procyanidin, Amino-acid ซึ่งการใช้เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อให้เกิดแคลลัส จะให้ปริมาณสารสำคัญที่สูงกว่าการสกัดจากเมล็ดข้าว และมีฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าสารสกัดจากเมล็ดข้าวถึง 3 เท่า แล้วนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สบู่ ครีม และเซรั่ม ที่มีการใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ สำหรับการผลิตนวัตกรรมชิ้นนี้จะใช้ข้าวเปลือก 3 กิโลกรัม นำมาแกะเป็นเมล็ดข้าวสารหอมมะลิแดงได้ 1 กิโลกรัม จากนั้นจะใช้ข้าวสารหอมมะลิแดง 1 กิโลกรัม เพาะเลี้ยงแคลลัส ได้ 1 กิโลกรัม แล้วนำแคลลัส 1 กิโลกรัม นำมาสกัด เพื่อให้ได้สารสกัดจากสเต็มเซลล์ 1 ลิตร ทั้งนี้ หากประเมินราคาของสารสกัดจะอยู่ที่ 18,000 บาท ต่อ 1 ลิตร และถ้าหากประเมินยอดการใช้สารสกัด 25 กิโลกรัมต่อการผลิตสินค้า 5,000 ชุด (Serum, Cream, Soap) ก็พบอีกว่าช่วยเพิ่มมูลค่าสารสกัดคิดเป็น 900 เท่าของข้าวเปลือกหอมมะลิแดงเลยทีเดียว
ยังอยู่ที่นวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพ'Dr.O Anti-Aging Skin Essence'นวัตกรรมระดับประเทศด้านผลิตภัณฑ์บำรุงผิว Essence ที่มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการระงับกลิ่นกาย ซึ่งเกิดจากความสามารถในการควบคุมปฏิกิริยา oxidation ของร่างกายลดลงในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยนำเถ้าแกลบที่มีซิลิก้าประมาณร้อยละ 70 – 90 มาสกัดด้วยกระบวนการ ultrasonic extraction ซึ่งจะทำหน้าที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ lipoxidase ที่เป็นตัวเร่งในการทำให้เกิดกลิ่น และนอกจากนั้นน้ำด่างเถ้าแกลบยังมีแร่ธาตุต่างๆ ที่สามารถดูดซับกลิ่นไวภายในและภายนอกโมเลกุล โดยจะเกิดปฏิกิริยาสะเทินกรด fatty acid อย่างไรก็ดีนวัตกรรมชิ้นนี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขี้เถ้าแกลบได้มากถึง 770 เท่า นอกจากนี้ยังเป็นการนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปข้าวมาสร้างมูลค่าเพิ่ม และยังเป็นทางเลือกของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ชะลอวัย ที่เพิ่มเติมคุณสมบัติในการระงับกลิ่นกายเข้ามาไว้ในผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดผยว่า “ประเทศไทย เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูก 'ข้าว' ซึ่งถือเป็นพืชเกษตรหลักที่ให้คุณประโยชน์ทั้งในแง่ของการบริโภค และการส่งออกเพื่อทำรายได้ให้กับประเทศ ผลผลิตจาก 'ข้าวไทย' ได้การยอมรับและถูกขนานนามว่าเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลกโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ทั้งด้วยคุณภาพ รสชาติ มาตรฐานการผลิต รวมถึงปริมาณในการรองรับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งประเทศไทยยังถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่ติดอันดับท็อปของโลกปีละหลายล้านตัน ความสำคัญในส่วนหลังนี้ ยังเป็นผลให้เกิดการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม กัมพูชา ที่เป็นประเทศเกษตรกรรมและมีการปลูกข้าวเช่นเดียวกับไทย รวมถึงอินเดียที่ก้าวมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งแซงหน้าไทยเมื่อไม่นานมานี้”
“สำหรับ การปรับตัวในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวไทย ที่ปัจจุบันแม้ว่าจะมีการแปรรูปออกมาเป็นสินค้าต่างๆแล้วนั้น แต่ก็อาจยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคที่แปรเปลี่ยน เนื่องจากข้าวที่ถูกนำไปแปรรูปยังอยู่ในกลุ่มสินค้าแปรรูปขั้นกลางกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผู้ประกอบการหรือนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้องศึกษาตลาดและปรับกระบวนการดำเนินธุรกิจมาใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มากขึ้น ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวนอกจากจะช่วยเพิ่มทางเลือกและมูลค่าให้กับสินค้าได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะผลักดันให้สินค้าที่ตีตราแบรนด์ไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก พร้อมก้าวล้ำประเทศคู่แข่งได้อย่างมีนัยสำคัญ”
สำหรับ ผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02 – 0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ Facebook.com/NIAThailand
Click Donate Support Web