WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ธ.ก.ส.เผยยอดประกันภัยนาข้าวกว่า 8 แสนไร่

      ธ.ก.ส.เผยความคืบหน้าโครงการประกันภัยข้าวนาปีมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 5.4 หมื่นราย รวมพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 8 แสนไร่ แจงเกษตรกรที่ประสบภัยรีบแจ้งเกษตรอำเภอทำแบบรายงานข้อมูลความเสียหายเพื่อรับเงินชดเชย แนะเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวไม่เกิน 45 วันรีบเข้าร่วมโครงการเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากภัยธรรมชาติก่อนสิ้นสุดโครงการ 31 ธันวาคมนี้

      นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557 เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากปัญหาภัยธรรมชาติและภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับผลผลิตของตนเอง โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส.ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารโครงการประกันภัยข้าวและเป็นตัวกลางระหว่างเกษตรกรผู้เอาประกันภัยกับบริษัทผู้รับประกันภัย พร้อมตั้งเป้าหมายพื้นที่นาข้าวที่จะเข้าร่วมโครงการ 1.5 ล้านไร่

    ผลการดำเนินงานขณะนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 54,236 ราย พื้นที่นาข้าว 812,396.75 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 54.28% ของเป้าหมาย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการถึง 73% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่เอาประกัน ซึ่ง ธ.ก.ส.จะให้เจ้าหน้าที่เร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ โดยเฉพาะการได้รับเงินชดเชยความเสียหายเมื่อประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาลไร่ละ 1,113 บาทแล้ว ยังได้เงินชดเชยจากการประกันภัยตามโครงการอีกไร่ละ 1,111 บาท รวมเป็นเงินชดเชยไร่ละ 2,224 บาท

     “ภัยธรรมชาติมักเกิดรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี การที่เกษตรกรได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐเมื่อรวมกับการทำประกันภัย นอกจากช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระหนี้สินแล้ว เกษตรกรยังมีเงินทุนเพียงพอสำหรับทำการผลิตรอบใหม่ได้โดยไม่ต้องกู้ยืมเพิ่มขึ้น ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้เบี้ยประกันที่จ่ายยังไม่สูงมากเพราะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ จึงอยากให้เกษตรกรที่ยังไม่ทำประกันภัยข้าวนาปีให้รีบทำประกันภัยก่อนถึงวันสิ้นสุดโครงการวันที่ 31 ธันวาคมนี้ ทั้งนี้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมาและได้ทำประกันภัยไว้นั้น ให้ดำเนินการแจ้งความเสียหายที่สำนักงานเกษตรอำเภอเพื่อทำแบบรายงานข้อมูลความเสียหาย (กษ.02) และแจ้งขอรับค่าสินไหมทดแทนได้ที่สำนักงาน ธ.ก.ส.ทุกสาขาทั่วประเทศ” นายลักษณ์กล่าว

       สำหรับ เงื่อนไขการดำเนินโครงการครั้งนี้กำหนดให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับภาระค่าเบี้ยประกันภัยตามลำดับความเสี่ยงของพื้นที่ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับคือ พื้นที่เสี่ยงต่ำที่สุด พื้นที่เสี่ยงต่ำมาก พื้นที่เสี่ยงต่ำ พื้นที่เสี่ยงปานกลาง และพื้นที่เสี่ยงสูง โดยคิดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยรวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์อยู่ที่ 129.47 บาท/ไร่  247.17 บาท/ไร่  376.64  บาท/ไร่  472.94 บาท/ไร่ และ 510.39 บาท/ไร่ ตามลำดับ  โดยเกษตรกรจะจ่ายค่าเบี้ยประกันในอัตราเพียง 60 บาท/ไร่  70 บาท/ไร่  80 บาท/ไร่  90 บาท/ไร่ และ 100 บาท/ไร่  ที่เหลือรัฐจะเป็นผู้อุดหนุนค่าเบี้ยประกันแทนเกษตรกรในอัตรา 69.47 บาท/ไร่  177.17 บาท/ไร่/296.64  บาท/ไร่  382.94 บาท/ไร่ และ 410.39 บาท/ไร่ ตามลำดับ

    นอกจากนี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการที่เป็นประโยชน์ ธ.ก.ส.จะร่วมอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าอีกไร่ละ 10 บาท ทำให้เกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพียง 50-90  บาท/ไร่ ซึ่งการประกันภัยจะคุ้มครองความเสียหายตามหลักเกณฑ์การประเมินความเสียหายของภาครัฐที่เกิดจาก น้ำท่วม ภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บและไฟไหม้  โดยได้รับชดเชย 1,111 บาทต่อไร่ ยกเว้นศัตรูพืชและโรคระบาด ได้รับการชดเชย 555 บาทต่อไร่

      "โครงการดังกล่าว ช่วยให้รัฐบาลสามารถบริหารจัดการงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงและยั่งยืนทางการคลัง  ทั้งนี้ภาครัฐจะยังคงให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนขั้นพื้นฐานแก่ผู้ประสบภัย แต่สำหรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมประเทศที่พัฒนาส่วนใหญ่จะใช้แนวทางการสนับสนุนผ่านการจัดทำประกันภัย ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดภาระงบประมาณแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้รู้จักการบริหารความเสี่ยงภัยด้วยตนอง ตลอดจนส่งเสริมกลไกตลาดประกันภัยภาคการเกษตรให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนมากขึ้นด้วย" นายลักษณ์กล่าว

สำนักประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร โทร 02 558 6100 ต่อ 6732, 6734

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!