- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 19 September 2014 23:19
- Hits: 2622
ก.เกษตรฯ เผยภาวะศก.เกษตร ไตรมาส 3 ขยาย 1.9 คาด พืช-ปศุสัตว์-บริการเกษตร-ป่าไม้ ดึงทั้งปีขยาย 2.1-3.1
ก.เกษตรฯ เผย ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 3 สาขาพืช-ปศุสัตว์-ป่าไม้ ดึงภาคเกษตร ขยาย 1.9 คาด สิ้นปี 57 ขยายตัวร้อยละ 2.1 - 3.1 ระบุ อ้อย-ข้าวโพด-ยาง-ปาล์ม-ผลไม้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับปศุสัตว์ แจง แม้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในสถานการณ์กุ้งจากโรค EMS แต่การผลิตกุ้งจะปรับตัวดีขึ้น จากมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งระบบอย่างเร่งด่วน
นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประมาณการเติบโตภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2557 (ก.ค.-ก.ย.) พบว่าขยายตัวประมาณร้อยละ 1.9 โดยสาขาที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้ขยายตัว คือ สาขาพืช สาขาปศุสัตว์ และสาขาป่าไม้ ส่วนสาขาประมง และสาขาบริการทางการเกษตร หดตัวลง สำหรับในสาขาพืชที่ประสบปัญหาทั้งฝนทิ้งช่วงและน้ำท่วม แต่ในภาพรวมไม่กระทบต่อการผลิตมากนัก เนื่องจากพื้นที่น้ำท่วมเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่ประสบภัยน้ำท่วมเป็นประจำเกือบทุกปี ทำให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาของการเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น สำหรับการผลิตสินค้าปศุสัตว์ มีมาตรฐานการผลิตและระบบการควบคุมโรคที่ดี รวมถึงความต้องการสินค้าปศุสัตว์ของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการขยายการเลี้ยงปศุสัตว์เพิ่มขึ้นไปด้วย ส่วนการผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยง แม้ว่าปัญหาโรคตายด่วนจะคลี่คลายลงในบางส่วน แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ยังไม่มั่นใจและทำการผลิตไม่เต็มที่ ส่งผลให้ผลผลิตกุ้งที่ออกสู่ตลาดยังคงมีค่อนข้างน้อย
โดยเมื่อจำแนกแต่ละสาขา พบว่าสาขาพืชในไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 56 โดยพืชที่ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และผลไม้ (ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ) โดย มันสำปะหลัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น จากการดูแลเอาใจใส่ มีการใช้ท่อนพันธุ์ที่ดีขึ้น ทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการที่มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก ยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นยางครบอายุกรีดได้มีเพิ่มขึ้น ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยจึงทำให้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มมากขึ้น
สำหรับพืชที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปี สับปะรดโรงงาน และปาล์มน้ำมัน โดย ข้าวนาปี มีผลผลิตลดลง เนื่องจากราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน มีผลผลิตลดลง เนื่องจากเนื้อที่ปลูกสับปะรดแซมในสวนยางพาราลดลง ประกอบกับเกษตรกรบางรายมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูก มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตลดลง เนื่องจากภาคใต้แหล่งผลิตใหญ่เกิดสภาพอากาศแห้งแล้ง ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง
ด้านราคา สินค้าพืชที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ สับปะรดโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์มน้ำมัน โดย สับปะรดโรงงาน มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกตลาดน้อย ในขณะที่ความต้องการของโรงงานยังมีต่อเนื่อง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงงานผลิตอาหารสัตว์มีความต้องการเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบและเก็บเป็นสต็อกเพิ่มขึ้น หลังจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ขยายตัวมากขึ้น ปาล์มน้ำมัน มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ในขณะที่ความต้องการในประเทศเพื่อการบริโภคและใช้ในอุตสาหกรรม รวมทั้งการผลิตไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สินค้าพืชที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางแผ่นดิบ และผลไม้ (ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ) โดย ข้าว มีราคาลดลง เนื่องจากราคาข้าวในตลาดโลกมีการปรับตัวลดลง ทำให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด มันสำปะหลัง มีราคาลดลง เนื่องจากคุณภาพแป้งในมันสำปะหลังมีเปอร์เซ็นต์ลดลงจากการที่ฝนตกอย่างต่อเนื่อง ยางพารา มีราคาลดลง เนื่องจากอุปทานในตลาดสูงขึ้นและราคาในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ผลไม้ที่มีราคาลดลง ได้แก่ ลำไย ทุเรียน มังคุด และเงาะ เนื่องจากในปีนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ด้านการส่งออก สินค้าเกษตรที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวรวม เนื่องจากราคาข้าวไทยปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งทำให้แข่งขันได้ ประกอบกับนโยบายการบริหารจัดการสต็อกของรัฐบาลที่ชัดเจน รวมทั้งการเร่งเจรจาขายข้าวกับต่างประเทศ เช่นเดียวกับ ลำไย ทุเรียน ที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น จากความต้องการของประเทศคู่ค้า ส่วนสินค้าเกษตรที่มีปริมาณและมูลค่าส่งออกลดลง ได้แก่ มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และน้ำมันปาล์ม
สาขาปศุสัตว์ช่วงไตรมาส 3 ปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 56 โดยปริมาณการผลิต ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เย็นขึ้น ทำให้สัตว์เจริญเติบโตได้ดี รวมถึงความต้องการบริโภคและการส่งออกที่มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณการผลิตสุกรขยายตัว แม้จะพบโรคท้องร่วงติดต่อ (Porcine Epidemic Diarrhea: PED) ในบางพื้นที่ แต่สถานการณ์ไม่รุนแรง สำหรับปริมาณผลผลิตไข่ไก่อยู่ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ด้านราคา สินค้าปศุสัตว์ส่วนใหญ่มีราคาเฉลี่ยในช่วง ก.ค.-ส.ค.57 เพิ่มขึ้น ซึ่งราคาที่เกษตรกรได้รับเป็นผลจากต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น โดยราคาสุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.22 0.32 และ 0.53 ตามลำดับ สำหรับราคาไก่เนื้อปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ ในเดือน ก.ค.57 การส่งออกเนื้อไก่ สุกร นม และผลิตภัณฑ์ขยายตัว
สาขาประมงในช่วงไตรมาส 3 ปี 2557 หดตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 56 โดยผลผลิตมากกว่าร้อยละ 80 มาจากประมงทะเล ซึ่งในช่วงไตรมาส 3 ผลผลิตกุ้งยังคงออกสู่ตลาดน้อย จากปัญหาโรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ทำให้เกษตรกรผู้ผลิตยังไม่มั่นใจจึงชะลอการเลี้ยงกุ้งหรือเลี้ยงน้อยลง อีกทั้งยังพบโรคตัวแดงดวงขาว ทำให้การเลี้ยงกุ้งบางส่วนได้รับความเสียหาย สำหรับราคากุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยในช่วง ก.ค.-ส.ค.57 อยู่ที่กิโลกรัมละ 211 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 56 ซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 197 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 7.11 โดยราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ลดลงจากปัญหาโรค EMS ส่วนการส่งออกสินค้าประมงของไทยในเดือน ก.ค.57 สินค้าประมงที่มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปลาและผลิตภัณฑ์ ปลาหมึกและผลิตภัณฑ์ กุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง ส่วนกุ้งปรุงแต่ง ทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกลดลง
สาขาบริการทางการเกษตรในช่วงไตรมาสที่ 3 หดตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 56 เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีลดลง ทำให้การจ้างบริการเตรียมดินและไถพรวนดินลดลง รวมทั้งผลผลิตข้าวนาปรังบางส่วนเสียหายจากภัยแล้ง การจ้างเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังลดลงตามไปด้วย ในขณะที่การขยายพื้นที่ปลูกและการเก็บเกี่ยวอ้อยโรงงานขยายตัวเพิ่มขึ้น
สาขาป่าไม้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ขยายตัวประมาณร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 56 เนื่องจากไม้ท่อน ถ่านไม้ น้ำผึ้ง และกลุ่มวัสดุสาน (หวายและไม้ไผ่) ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยไม้ยางพาราเพิ่มขึ้นตามพื้นที่การตัดโค่นจากการส่งเสริมของ สกย. สำหรับผลผลิตถ่านไม้ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร อีกทั้งมีการส่งออกถ่านไม้ไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ส่วนการผลิตและการส่งออกน้ำผึ้งในช่วงไตรมาสนี้ ขยายตัวเกือบเท่าตัวจากความต้องการของตลาดไต้หวันและเยอรมนี
ทั้งนี้ แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.1 - 3.1 โดยสาขาที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาพืช ปศุสัตว์ บริการทางการเกษตร และป่าไม้ ส่วนสาขาประมงยังคงหดตัว ผลผลิตพืช เช่น อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ เช่น ไก่เนื้อ สุกร ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ส่วนสถานการณ์ การระบาดของโรคตายด่วนที่ส่งผลกระทบต่อการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา เริ่มคลี่คลายลงตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังทำการผลิตไม่เต็มที่ จึงทำให้ผลผลิตกุ้งยังคงออกสู่ตลาดลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าการผลิตกุ้งจะปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ จากการมาตรการของกรมประมงในการแก้ไขปัญหาทั้งระบบอย่างเร่งด่วน