- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 19 September 2014 22:56
- Hits: 3166
จ่ายเงินอุดหนุนต้นทุนการปลูก-ค่าเช่านา กลุ่มรากหญ้าได้ผ่านภาษีคนจน
แนวหน้า : จ่ายเงินอุดหนุนต้นทุนการปลูก-ค่าเช่านา-กลุ่ม'รากหญ้า'ได้ผ่าน'ภาษีคนจน'เทแสนล.อุ้มชาวนา-รากหญ้า
รมว.คลัง เผยรัฐบาลตั้งเพดาน ใช้เงินปีละแสนล้าน ช่วยชาวนารายย่อย และ ผู้มีรายได้น้อย ผ่าน 2 2 มาตรากร เรื่องแรกจ่ายเงินอุดหนุนผ่านธ.ก.ส.เพื่อใช้เป็นต้นทุนการปลูกข้าว และ ค่าเช่าที่นา ขณะนี้กำลังเคาะตัวเลขว่าจะจ่ายรายละเท่าไหร่ ผู้ผุ้มีรายได้น้อยทั่วไป ดำเนินการผ่าน'ภาษีจนจน'ย้ำไม่ใช่การผลาญงบเหมือนประชานิยม
นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมออกมาตรการให้เงินอุดหนุนชาวนารายย่อย ผ่านแหล่งเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่ออุดหนุนเงินให้ชาวนานำเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายต้นทุนการปลูก ค่าเช่านา โดยในขณะนี้อยู่ระหว่าง
การหารือกับกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ว่าจะให้เงินอุดหนุนชาวนาต่อไร่เป็นเงินจำนวนเท่าไร และจะต้องดูจากพื้นที่การเพราะปลูกไม่เกินจำนวนกี่ไรถึงได้รับเงิน คาดว่าจะออกมาในช่วงเดือน ต.ค. 2557
"การให้เงินอุดหนุนชาวนาที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น ไม่ได้เป็นการแจกเงินสดแบบประชานิยมที่ให้ไปทั่ว ไม่ได้เป็นโครงการประชานิยม แต่มาตรการดังกล่าวเป็นการให้เงินที่มีการพิจารณาให้กับชาวนารายย่อย ไม่ได้ให้ชาวนาที่รวย"นายสมหมาย กล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลยังจะเร่งดำเนินการมาตรการจ่ายเงินภาษีให้กับผู้มีรายได้น้อย (Negative Income Tax : NIT)ให้ได้ภายในปีงบประมาณ 2558 แม้ว่านักวิชาการบางส่วนจะไม่เห็นด้วย แต่กระทรวงการคลังเห็นว่าในทางปฏิบัติถือเป็นเรื่องที่ดี ไม่มีการสูญเสียระหว่างทาง และเป็นการดึงคนมาสู่ระบบภาษี โดยจากการประมาณของคลังคาดว่าจะใช้เงินถึง 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะหักกับภาษีที่กรมสรรพากรเก็บได้ก่อนที่จะนำส่งให้คลัง
สำหรับ การดำเนินการทั้ง 2 มาตรการ รัฐบาลคาดว่าจะต้องใช้เงินปีละไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ไม่ได้เป็นการใช้จากเงินงบประมาณโดยตรง เพราะการให้เงินอุดหนุนชาวนาใช้เงินจาก ธ.ก.ส. และรัฐบาลจ่ายชดเชยอุดหนุนให้ธ.ก.ส. ในภายหลัง ส่วนการจ่ายคืนเงินภาษีเป็นการหักภาษีจากกรมสรรพากร
นายสมหมาย กล่าวถึงการใช้หนี้จากโครงการรับจำนำข้าวที่ 7 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 30 ปี ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นแนวคิดของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี แต่หากกระทรวงการคลังมีแนวทางอื่นที่ดีกว่า ท่านรองนายกรัฐมนตรีก็พร้อมที่จะพิจารณา
“การใช้หนี้ 30 ปี เป็นความคิดของหม่อมอุ๋ย แต่หากกระทรวงการคลังมีความคิดที่ดีกว่า และสามารถทำได้ ท่านก็ยอมรับได้ จะนำมาพิจารณา ขอให้ใจเย็นๆ” นายสมหมาย กล่าว
นายสมหมาย ยังได้กล่าวถึงกรณีภาษีมรดก ว่ารูปแบบ พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกและภาษีการรับให้ นั้นจะการให้ลดหย่อนและผ่อนคลายมากขึ้น เช่นการเก็บอัตราเดียว 10 % ซึ่งถือว่าไม่สูงเมื่อเทียบกับภาษีมรดกของประเทศญี่ปุ่นที่เก็บอัตรา 33% นอกจากนี้ยังมีการยกเว้นให้กับมรดกที่ไม่เกิน 50 ล้านบาท โดยการคิดมูลค่ามรดกยังให้นำไปหักกับหนี้สินของเจ้าของมรดกก่อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น และไม่ให้ผู้เลี่ยงเสียภาษีมรดก โอนเงินไปต่างประเทศ
สำหรับร่างกฎหมายเบื้องต้นได้กำหนดว่า การโอนทรัพย์สินมรดก ทั้งเงินฝาก หุ้น ตราสาร ที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ก่อนเสียชีวิต 2 ปี จะต้องถูกนำมาคำนวณเป็นภาษีมรดก เพื่อป้องกันการโอนทรัพย์ก่อนเสียชีวิต ผู้ที่หลีกเลี่ยงเสียภาษีมรดกมีโทษทางอาญาจำคุก 6 เดือน
นอกจากนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาให้ความชดเจนแล้วว่า คู่สามีภรรยาที่เสียชีวิตไม่ต้องเสียภาษีมรดก เพราะถือเป็นบุคคลคนเดียวกัน รวมถึงคนที่ไม่ได้มรดกก็ได้รับการยกเว้น ซึ่งการเก็บภาษีมรดกไม่ได้เพิ่มให้รายได้ของรัฐบาลมาก แต่เป็นทำให้คนไทยรู้จักเสียภาษี เพราะคนรวยใช้ทรัพยากรของประเทศมากกว่าคนจน จึงควรต้องเสียภาษีมากกว่า
“ขณะนี้ร่างกฎหมายภาษีมรดกอยู่ระหว่างการพิจาณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อมีการหารือรายละเอียดกับรัฐบาลได้ข้อยุติหมดแล้ว ต้องเสนอมาที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อส่งให้สภานิติบัญญัติ (สนช.) พิจารณาต่อไป โดยไม่ต้องกลับไปให้คณะกฤษฎีกาพิจารณาอีก“
นายสมหมาย กล่าวอีกว่า หลังจากดำเนินการกฎหมายภาษีมรดกเสร็จแล้ว หลังจากนั้นจะเสนอ พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้รัฐบาลพิจารณา มาแทนกฎหมายเดิมภาษีโรงเรือนที่เก็บอัตรา 12.5% ของรายได้ ทำให้เกิดการรั่วไหลและเก็บไม่ได้จริง โดยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะไม่ทำให้ภาระผู้เสียภาษีเพิ่มขึ้น และจะมีเวลาให้ผู้เสียภาษีปรับตัว 1 ปี หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ ขณะนี้รัฐบาลต้องเร่งประเมินราคาดินและทรัพย์สินทั่วประเทศให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่สุด
นอกจากนี้ นายสมหมาย ยังกล่าวถึงการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต) ว่า จะมีการปรับเพิ่มแวตในช่วงปลายปีงบประมาณ 2558 อย่างแน่นอน แต่จะปรับเพิ่มจากที่เก็บอยู่ 7% เป็น 10% เต็มเพดานที่กฎหมายกำหนดหรือไม่นั้น จะต้องมาพิจารณากันอีกครั้ง
คลังอัดแสน ล.ช่วยเกษตรกร'สมหมาย' ออกตัวอุดหนุนเงินตรงไม่ใช่ประชานิยม
บ้านเมือง : ขุนคลังปิ๊งไอเดีย จัดงบแสนล้านจ่ายอุดหนุนให้เกษตรกรรายย่อยและคนยากจน หวังลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความยั่งยืนในการดำรงชีพ คาดสรุปความชัดเจนต้นเดือนหน้า ก่อนเริ่มออกมาตรการภายในปีงบ 58 ด้าน'หม่อมอุ๋ย'สั่ง สบน.เร่งศึกษาออกบอนด์ออมทรัพย์ยืดหนี้ข้าว 30 ปี
นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด เกี่ยวกับมาตรการจัดเงินอุดหนุนจากภาครัฐโดยตรงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย และกลุ่มคนยากจน เนื่องจากเห็นว่ากลุ่มเกษตรกรรายย่อยและกลุ่มคนยากจนนั้นถือเป็นกลุ่มคนในสังคมที่รัฐบาลจะต้องให้การช่วยเหลือและดูแล เพื่อช่วยสร้างความยั่งยืนในการดำรงชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้
"รัฐบาลกำลังดูรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ต่างๆ ในการออกมาตรการจัดเงินอุดหนุนจากภาครัฐโดยตรงให้กับเกษตรกรรายย่อย และกลุ่มคนยากจนในสังคม การช่วยเหลือดังกล่าวจะเป็นการช่วยสร้างความยั่งยืนในการดำรงชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งไม่ได้ถือว่าเป็นการทำนโยบายประชานิยมแต่อย่างใด เป็นการอุดหนุนเงินให้โดยตรง"
นายสมหมาย กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้มีการหารือกับกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ซึ่งทางกระทรวงเกษตกรฯ ก็สอบถามความชัดเจนมาว่างบช่วยเหลือเกษตรกรในแต่ละปีประมาณ 1 แสนล้านบาท ทางกระทรวงการคลังคิดว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ยืนยันไปว่าไม่มีปัญหา เรื่องของงบประมาณในการช่วยเหลือนั้นไม่ต้องเป็นห่วง เนื่องจากกระทรวงการคลังมีช่องทางดำเนินการอยู่แล้ว
"หลักเกณฑ์การพิจารณาในการจัดสรรเงินอุดหนุนให้กับเกษตรกรรายย่อยนั้น เบื้องต้นจะพิจารณาจากระดับรายได้ พื้นที่การเพาะปลูกที่ได้ขึ้นทะเบียนเอาไว้ รวมไปถึงจำนวนผลผลิตในแต่ละฤดูการผลิตด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำเงินที่ได้รับไปใช้สนับสนุนในการเพาะปลูกต่อไป โดยยืนยันว่าเรามีหลักในการพิจารณาที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว โดยคาดว่างบประมาณที่จะนำมาใช้ในการออกแพ็กเกจช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย และช่วยเหลือคนยากจน ในรูปแบบของ Negative Income Tax (NIT) ซึ่งเป็นการที่รัฐให้ความช่วยเหลือแก่คนจนด้วยการจัดสรรเงินโอนให้ เพื่อแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ จะอยู่ราวๆ 1 แสนล้านบาท เรามีเงินอยู่แล้ว คาดว่าต้นเดือนหน้าจะสรุปรายละเอียดทั้งหมดได้ และเริ่มออกมาตรการดังกล่าวได้ในปีงบประมาณ 58" นายสมหมาย กล่าว
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการมอบนโยบายการทำงานของรัฐบาลให้กับส่วนราชการ เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ไปศึกษาแนวทางยืดหนี้จากการจำนำข้าวเกิดขึ้นมาในช่วงรัฐบาลก่อนที่มีวงเงินถึง 7 แสนล้านบาท ให้ยาวขึ้น 30 ปี เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่องบประมาณที่ต้องจัดสรรเงินมาใช้หนี้ดังกล่าวภายใน 5 ปี โดยรัฐบาลมีแผนที่จะนำงบที่ไม่ต้องนำมาจ่ายหนี้ข้างไปลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน 2.4 ล้านล้านบาทแทน
ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร อยากให้ออกเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ขายให้กับประชาชน เพื่อให้ดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายไปตกอยู่ในมือประชาชน ซึ่งการออกพันธบัตรจะทยอยออกตามหนี้ที่ครบกำหนด ไม่จำเป็นต้องออกก้อนเดียว 7 แสนล้านบาท ส่วนอายุพันธบัตรสามารถออกได้หลายช่วงอายุตั้งแต่ 10 ปี 15 ปี และ 30 ปี โดยก่อนหน้านี้ สบน.ออกพันธบัตรออมทรัพย์รายย่อย 10 ปี ซึ่งขายหมดในเวลารวดเร็ว ทั้งนี้ สบน.ต้องรอการดูตัวเลขขาดทุนจากการปิดบัญชีจำนำข้าวที่มี นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ที่มีกำหนดนัดประชุมเพื่อปิดบัญชีในช่วงสิ้นเดือน ก.ย.นี้ ว่า ผลขาดทุนเท่าไหร่ รวมถึงต้องนำแผนการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์มาประกอบการพิจารณาด้วย
ด้าน นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวเสริม ว่า ในการประชุมคณะกรรมการธนาคาร ช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้ จะเสนอต่อที่ประชุมพิจารณาแผนกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ (Roll Over) ของเงินกู้จำนำข้าวที่จะครบกำหนดชำระหนี้ในปีงบ 58 วงเงินกว่า 1 แสนล้านบาท ถือเป็นการบริหารจัดการปกติ ซึ่งในส่วนการบริหารเงินกู้ดังกล่าว สบน.จะพิจารณาแนวทางว่าจะใช้เครื่องมือใดในการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้
"กำลังรอดูผลการศึกษาจาก สบน. ในเรื่องการยืดหนี้จำนำข้าว หาก สบน.ศึกษาเสร็จในช่วงปีงบ 58 สามารถนำหนี้ที่ครบกำหนดปีนี้มานำร่องออกพันธบัตรก่อนเลยก็ได้ ตรงนี้ถือเป็นการบริหารจัดการของภาครัฐ ซึ่งเงินที่นำมาใช้หนี้จำนำข้าวจะมาจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ และเงินจากงบประมาณ ดังนั้น หากสามารถยืดหนี้ให้ยาวขึ้นได้ภาระของรัฐบาลที่จะต้องจัดสรร งบประมาณมาใช้หนี้ในช่วง 5 ปี ก็จะลดลงไป"นายลักษณ์ กล่าว