- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 30 September 2018 20:12
- Hits: 4884
สุวิทย์ แนะภาคเกษตรปรับตัวสู่ Smart Farmer เพื่อรักษาความเป็นผู้นำ-ตอบโจทย์ความต้องการยุค 4.0
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ’ภาคเกษตรจะปรับตัวอย่างไร?..เพื่อนำไทยสู่ยุค 4.0’ ว่า ในอดีตเรื่องเกษตรเป็นเรื่องของ Location ที่ดีกว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเท่าใดนัก แต่วันนี้ภาคเกษตรเปลี่ยนครั้งใหญ่จาก Factor Driven Economy ไปสู่ Innovation Driven Economy ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว
ขณะที่ในอีก 3 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยผู้สูงอายุมีสัดส่วนเป็น 20% ของประชากรในปี 2564 โดยเกษตรกรไทยอายุเฉลี่ยจะอยู่ที่ 56 ปีขณะที่อายุ 60 ปีขึ้นไปมีประมาณ 12.5%
"สิ่งที่ตามมา คือ การที่ไม่ได้พัฒนาตามที่โลกเปลี่ยน ทำให้เรายังเป็นเกษตรกรรมที่ล้าหลัง โดยเฉพาะลูกหลานเกษตรกรรู้สึกว่าไปทำอย่างอื่นดีกว่าและต้นทุนการผลิตอาหารและเกษตรสูงมาก และเรื่องที่ชาวเศรษฐศาสตร์ เกษตรศาสตร์ต้องขบคิด คือเกษตรเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงมากเพราะยังต้องพึ่งพาดินฟ้าอากาศ เรากำลังพูดถึง Vertical Farming, Urban Farming, Plant Factory หรือการผลิตเสมือนอยู่ในโรงงานซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก แต่เกษตรกรไทยยังปรับตัวให้เข้ากับสิ่งเหล่านี้ไม่ทันเราจะทำยังไง นี่คือความท้าทายที่เรากำลังเผชิญ ไทยแลนด์ 4.0 จึงเป็นแค่การส่งสัญญาณว่าเมื่อโลกปรับไทยต้องเปลี่ยน เมื่อเทคโนโลยีป่วนโลกสิ่งที่เราต้องทำทันทีทั้งๆที่ควรทำมานานแล้วคือ Reinvention จึงจะเกิด Reinnovation เพื่อตอบโจทย์ Distrubtion"
ดังนั้น จำเป็นต้องช่วยกันสร้าง Smart Farmer จากคนรุ่นใหม่หรือจาก Start Up ที่มีความคิดความอ่านที่ยกระดับ Produtivity และเรื่อง Innovation ในภาคเกษตรและอาหาร เพื่อขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยในยุคปัจจุบันเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการ อาทิ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การลดลงของแรงงานเกษตร ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางการเกษตร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และวิกฤตต่างๆ จากสถานการณ์โลก สงครามการค้าสหรัฐ-จีน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรภายใต้สถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด
ภาคเกษตรไทยจำเป็นต้องปรับตัวให้ก้าวทันสู่บริบทใหม่ และยังรักษาความเป็นผู้นำสำคัญด้านเกษตรและอาหารของโลกในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตลอดห่วงโซ่อุปทาน
"โลกของเกษตรกับอาหารเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เรากำลังเผชิญกับประเด็นท้าทายของโลก เรากำลังเจอกับภาวะ Global Common ภายใต้โลกที่เชื่อมต่อกันอย่างสนิท สิ่งที่เป็นสิ่งท้าทายสิ่งแรกคือเรื่องของ Global Common ในหลายๆเรื่อง แต่ Global Common ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรและอาหารมี 2 เรื่องคือ Climate Change ซึ่งปัจจุบันเราเผชิญกับ Climate Change ในรูปแบบต่างๆอยู่แล้ว แต่อุณหภูมิโลกที่มากขึ้นทำให้แต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงภัยแตกต่างกัน แต่ประเทศไทยจะโดนผลกระทบค่อนข้างรุนแรงมากจาก Climate Change ในอีก 30-40 ปีข้างหน้าจนทำให้เรือ่งของผลิตภาพทางการผลิตการเกษตรของประเทศไทยจะลดลงต่อเนื่อง 15-20% ในปี 2623
แนวโน้มอาหารในอนาคตต้องตอบโจทย์ความต้องการที่เปลี่ยนไป ดังนี้ 1.เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2.อาหารปลอดภัย 3.อาหารสุขภาพ เช่น อาหารที่ลดไขมันไม่ดีลง อาหารที่สามารถใช้เป็นยา ส่งเสริมสุขภาพและภูมิคุ้มกันช่วย Detox 4.อาหารจำเพาะกลุ่มคน ได้แก่ เด็ก คนชรา ผู้ป่วย อาหารรายบุคคล อาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคสมัยใหม่ โรคอ้วน ความดัน หัวใจ เบาหวาน 5.อาหารผู้สูงวัย 6.ไลฟ์สไตล์แบบใหม่ สามารถซื้ออาหารได้ 24 ชม. 7.มีแหล่งอาหารเพียงพอสำหรับทุกคน เช่น แหล่งโปรตีนใหม่ 8.ข้อกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศซึ่งจะมีมากขึ้น
"สิ่งเหล่านี้ที่ไม่เคยคิดว่าจะเกี่ยวพันกับภาคเกษตรและอาหารอย่างไร แต่ตอนนี้กลายเป็นสิ่งที่จะต้องมีอยู่ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ทั้ง Big Data, Platform, Application, Robot นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ต่อไปจะเรียกว่า Cyber Physical Platform อนาคตหนีไม่พ้นที่เกษตรจะต้องอยู่บน Intelligent Platform อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นที่เราพูดถึง Industry 4.0 คือเรากำลังจะไปถึง Agriculture 4.0 ในเวลาเดียวกัน"
อินโฟเควสท์