- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 30 September 2018 15:14
- Hits: 2631
กรมชลประทาน เดินหน้าปรับแผนเก็บกักน้ำ ให้สอดคล้องกับสภาพฝน รับมือฤดูแล้งหน้ามีน้ำใช้อย่างเพียงพอ
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน(25 ก.ย. 61) สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวมกันทั้งสิ้น 59,133 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุอ่างฯรวมกันทั้งหมด มีปริมาณน้ำใช้การได้ 35,203 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรองรับน้ำได้อีก 16,938 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ โดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลัก(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำรวมกัน 17,968 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้ 11,272 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 62 ของน้ำใช้การได้รวมกัน และยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 6,903 ล้าน ลบ.ม. สำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา ให้เริ่มทยอยรับน้ำเข้าทุ่ง โดยพิจารณาตามเกณฑ์ที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่และปริมาณน้ำที่เกิดจากฝน ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่ที่ยังมีปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ สามารถระบายน้ำขั้นต่ำสุดได้ตามความเหมาะสมและศักยภาพของแต่ละพื้นที่รับน้ำด้านท้าย ซึ่งจะต้องติดตามผลจากการ ระบายน้ำดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป
ส่วนปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของกรมชลประทาน จำนวน 427 แห่ง(ขนาดใหญ่ 25 แห่ง ขนาดกลาง 412 แห่ง) พบว่ามีอ่างเก็บน้ำที่ปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 60 จำนวน 138 แห่ง แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 10 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 128 แห่ง แต่หากพิจารณาอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ที่จะต้อง เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พบว่า มีจำนวน 34 แห่ง แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่มอก จ.ลำปาง (คิดเป็นร้อยละ27) และอ่างเก็บน้ำทับเสลา จ.สุพรรณบุรี (คิดเป็นร้อยละ26) อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 32 แห่ง กระจายอยู่ตามภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคเหนือ 3 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 21 แห่ง ภาคตะวันออก 3 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง ทั้งนี้ หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศสิ้นสุดฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการแล้ว จะมีการทบทวนปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศอีกครั้ง เพื่อพิจารณาแผนการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมต่อไป
อนึ่ง นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมชลประทานปรับแผนการระบายน้ำเพื่อเตรียมเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน เป็นต้นไป โดยเฉพาะเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมเน้นย้ำให้มีการปฏิบัติการฝนหลวงอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายหลักเป็นอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ ซึ่งกรมชลประทานและกรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้ปฏิบัติงานร่วมกันมาโดยตลอด ภายใต้โครงการความร่วมมือ R2 ในการปฏิบัติการเพื่อเพิ่มความชุมชื้นให้กับพื้นที่การเกษตร ปริมาณน้ำที่จะไหลลงอ่างเก็บน้ำ และยังเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้อุปโภค-บริโภคในอนาคตอีกด้วย
นอกจากนี้ ได้วางแผนปรับเปลี่ยนการปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และใช้น้ำอย่างพอเพียงให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง
Click Donate Support Web