- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 08 September 2018 21:27
- Hits: 4155
ปศุสัตว์ ย้ำโรคอหิวาต์แอฟริกาหมูที่เกิดในจีนและยุโรปบางประเทศ ไม่ติดต่อคน ส่วนไทยเน้นมาตรการป้องกันโรคเข้มงวดทั้งหมูและสัตว์ปีก
อธิบดีกรมปศุสัตว์แนะอย่าตื่นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ย้ำเป็นโรคเฉพาะในหมูไม่ติดคน ตั้งคณะกรรมการพิจารณาแผนเตรียมความพร้อม เน้นมาตรการเร่งด่วนให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังสั่งการ 89 ด่านพรมแดน เข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าหมู แนะเกษตรกรทั้งหมู-ไก่เน้นดูแลสัตว์เลี้ยงใกล้ชิด
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยยังไม่เคยพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ที่เกิดในประเทศจีนและบางประเทศในแถบยุโรป และขอย้ำว่าโรคนี้เป็นโรคไวรัสที่ระบาดในสุกร ไม่ได้ติดต่อระหว่างสัตว์และคน ปัจจุบันโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนและวิธีการรักษาที่จำเพาะ หากพบการระบาดจะต้องกำจัดสุกรสถานเดียว กรมปศุสัตว์จึงออกมาตรการให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ต้องเข้มงวดดำเนินการ เพื่อเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมในกรณีดังกล่าว และแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแผนเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุ โดยมีอธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธาน และมีกรรมการจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน คณาจารย์ และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เพื่อสกัดกั้น ASF ไม่ให้เข้ามาในประเทศไทย พร้อมสั่งการให้ปศุสัตว์อำเภอและปศุสัตว์จังหวัด ลงพื้นที่แนะนำให้เกษตรกรดูแลสุกรอย่างเข้มงวด โดยสังเกตอาการของโรคที่จะทำให้สัตว์ตายเฉียบพลัน มีไข้สูง ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำ พร้อมป้องกันฝูงสัตว์จากการสัมผัสโรค เน้นระบบจัดการฟาร์มและระบบป้องกันโรค เลี้ยงสัตว์ในคอกและไม่ปล่อยสัตว์ให้หากินตามธรรมชาติ
“กรมปศุสัตว์ออกมาตรการให้กองสารวัตรและกักกัน เข้มงวดการตรวจค้นและปราบปรามการลักลอบการนำเข้าหมูเถื่อนจากประเทศเพื่อนบ้าน ตามแนวชายแดนและด่านพรมแดนทั้ง 89 ช่องทางใน 25 จังหวัด รวมถึงชะลอการนำเข้าสุกรมีชีวิตและผลิตภัณฑ์สุกรจากจีนและประเทศที่มีการระบาดของโรคเป็นระยะเวลา 90 วัน ควบคู่กับมาตรการป้องกันและกำจัดเชื้อโรคที่ทำอยู่แล้วให้เข้มข้นขึ้น” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว
ขณะเดียวกัน กรมปศุสัตว์ได้ติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคระบาดสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิดมาตลอด พร้อมเข้มงวดมาตรการดูและและป้องกันโรค โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนที่สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดทั้งวัน ที่ส่งผลให้สัตว์ปีกปรับสภาพไม่ทันทำให้ร่างกายอ่อนแอ จึงสั่งกำชับให้เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทั่วประเทศ สนธิกำลังกับอาสาปศุสัตว์ทุกจังหวัด ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเกษตรกร เร่งให้คำแนะนำและความรู้ด้านการป้องกันโรคเพื่อลดความเสี่ยงต่างๆที่อาจเกิดขึ้น โดยเน้นการดูแลสุขภาพสัตว์ปีก พร้อมรณรงค์ทำความสะอาดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในจุดที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีก เป็นประจำให้ครอบคลุมทุกพื้น ทั้งนี้หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ห้ามทิ้งซากสัตว์ปีกลงแหล่งน้ำหรือนำไปประกอบอาหารโดยเด็ดขาด และให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ให้เข้าตรวจสอบอย่างทันท่วงที
“กรมปศุสัตว์บูรณาการร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หน่วยงานในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ในการป้องกันโรคสัตว์ปีกอย่างต่อเนื่อง ขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าวต่างๆ และขอให้มั่นใจว่าประเทศไทยมีมาตรการเฝ้าระวังโรคระบาดอย่างเข้มงวด โดยสั่งการให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ลงพื้นที่ติดตามและป้องกันโรค” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวและว่า
หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ หรือสำนักงาน ปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือติดต่อกับกรมปศุสัตว์ผ่านแอพพลิเคชั่น DLD 4.0./
ข้อมูล/ข่าว : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียบเรียง : คณะทำงานโฆษกกรมปศุสัตว์
Click Donate Support Web