- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 17 September 2014 00:41
- Hits: 2529
ครม.ตั้ง กนย.ชุดใหม่ จัดทำยุทธศาสตร์พัฒนา-แก้ไขปัญหายางพาราคาทั้งระบบ
ร.อ.นพ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับปรุงองค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ, รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธานกรรมการ
ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย รมว.พาณิชย์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กรรมการและผู้จัดการตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย
นายกสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย นายกสมาคมน้ำยางข้นไทย นายกสมาคมยางพาราไทย ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานชุมนุมสหกรณ์เกษตรอุตสาหกรรมการยางแห่งประเทศไทย นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย นายกสมาคมเครือข่ายเกษตรกรสถาบันเกษตรกรยางพารา ประธานเครือข่ายยางพาราแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย โดยมี เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
สำหรับ อำนาจหน้าที่ กนย. ประกอบด้วย 1. เสนอแนะนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาและแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ กำหนดมาตรการระยะสั้นและระยะยาวให้เชื่อมโยงทั้งการผลิต การตลาด และการแปรรูปอย่างครบวงจร โดยครอบคลุมการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การพัฒนาการผลิต การพัฒนาระบบตลาด การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า การควบคุมคุณภาพและมาตรฐานการวิจัยพัฒนาและเพิ่มการใช้ยางในประเทศ รวมทั้งแนวทางการเจรจาของไทยเกี่ยวกับยางพาราระหว่างประเทศต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
2. กำหนดและเสนอมาตรการเพื่อดูแลระดับราคายางพารา ให้เกษตรกรมีรายได้ที่เหมาะสม โดยเน้นกลไกตลาด เสนอแผนปฏิบัติการ รวมทั้งงบประมาณที่ต้องใช้ในการดูแลระดับราคายาง เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องและคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและอนุมัติตามขั้นตอน
3. ติดตามและกำกับดูแลการปฏิบัติตามนโยบายและยุทธศาสตร์มาตรการ และแผนปฏิบัติการตามที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
4. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และคณะที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ และเสนอแนะแนวทางในการบริหารจัดการยางพาราต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ
5. เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงหรือขอเอกสารหลักฐาน โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของทางราชการให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ
6. ดำเนินการอื่นตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย
อินโฟเควสท์
รมว.เกษตรฯ ถกกนย.สัปดาห์หน้าพิจารณา 4 ข้อเสนอแก้ปัญหาราคา, ยันไม่แทรกแซง
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย (สกยท.) พร้อมด้วยผู้แทนภาคเกษตรกร อุตสาหกรรมด้านยางพาราทั้งระบบว่า ทุกฝ่ายได้มีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ซึ่งจากการหารือและรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้แทนภาคเกษตรกร และอุตสาหกรรมด้านยางพาราทั้งระบบ มีข้อคิดเห็นตรงกันในการแก้ไขปัญหายางพาราใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1. ต้องเร่งวางมาตรการทำให้ยางพาราที่ค้างอยู่ในประเทศใช้ให้หมดโดยเร็ว โดยรัฐบาลต้องส่งเสริมในการนำยางพาราไปใช้ในกิจการต่างๆของรัฐ ทั้งโครงการสร้างถนน ระบบการป้องกันน้ำท่วม หรือกิจการอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้ยางพารา ขณะเดียวกันในเรื่องการโค่นยางเพื่อลดอุปทานยาง ต้องวางระบบการดำเนินงานให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องการเคลื่อนย้ายต้นยาง และกระบวนการช่วยเหลือเกษตรกรภายหลังการโค่นยางแล้ว เป็นต้น
2. สำหรับมาตรการระยะสั้น ต้องผลักดันให้เกิดการขายยางพาราได้จริง โดยรัฐบาลจะดูแลในเรื่องราคา เนื่องจากขณะนี้ตลาดอุตสาหกรรมขายกระดาษราคาตกต่ำลงมาก ดังนั้น ต้องหาผู้ซื้อจากตลาดที่มีการขายพาราให้มากยิ่งขึ้น 3. โครงการสนับสนุนสินเชื่อควรขยายไปถึงกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ นอกจากสหกรณ์ เช่น วิสาหกิจชุมชน เพื่อส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนนำยางพารามาแปรรูปมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนการซื้อยางพาราภายในประเทศ เพื่อผลักดันให้ราคาสูงขึ้น และ 4.สนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น รวมถึงการกำหนดราคายางร่วมกันกับต่างประเทศ และการเก็บสต๊อกยางพาราร่วมกันกับต่างประเทศ เพื่อผลักดันให้ราคายางพาราสูงขึ้น
รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ข้อเสนอทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าว จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ชุดใหม่ในสัปดาห์หน้า โดยการวางมาตรการแก้ไขปัญหายางพารายืนยันว่า จะไม่เน้นในเรื่องการแทรกแซงราคา และจะนำข้อเสนอแนะที่ได้รับฟังปัญหาจากตัวแทนกลุ่มเกษตรกรและสถาบันยางที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหายางทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ
"การดำเนินงานในทั้ง 4 ประเด็น คาดว่า จะเห็นผลในการดำเนินงานภายใน 2-3 เดือน โดยรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกยางพาราอย่างเต็มที่และจะเร่งผลักดันให้ราคายางพาราเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาจากตัวแทนกลุ่มเกษตรกรและสถาบันยางที่เกี่ยวข้องมีจำนวนมาก จึงต้องดำเนินการไปทีละเรื่อง ทั้งเรื่องจัดการสต๊อกยางพารา การโค่นยางพารา การสนับสนุนสินเชื่อโครงการให้กับเกษตรกร และการนำยางพาราไปใช้ในกิจการของรัฐด้านต่างๆ ซึ่งต้องศึกษารายละเอียดเพื่อนำไปสู่การดำเนินการต่อไป"นายปีติพงศ์กล่าว
อินโฟเควสท์
สกย.จับมือกรมพัฒนาที่ดินใช้ข้อมูลทางแผนที่เพื่อกำหนดพื้นที่-เพิ่มผลผลิตต่อหน่วย
นายประสิทธิ์ หมีดเส็น รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ได้ให้ความสำคัญในการรวบรวมข้อมูลพื้นที่ปลูกยางพาราของประเทศไทย จึงได้พัฒนาระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) ขึ้น เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการทำสวนยางในมิติต่างๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ในขณะเดียวกัน ทาง สกย. ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเตรียมข้อมูลแผนที่ ซึ่งทำหน้าที่เป็นแผนที่ฐานอ้างอิง (Base Map) ในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการขอแลกเปลี่ยนข้อมูลเฉพาะที่สำคัญจากกรมพัฒนาที่ดิน เช่น แผนที่ภาพถ่ายออร์โธสี แบบจำลองความสูงเชิงเลข แผนที่สภาพการใช้ที่ดิน แผนที่กลุ่มชุดดิน แผนที่เขตเหมาะสมสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ (Zoning) รวมทั้งดัชนีสำหรับสืบค้นข้อมูล ซึ่งมีความสำคัญต่อภารกิจในความรับผิดชอบของ สกย. ในฐานะองค์กรที่ดูแลและให้การส่งเสริมการปลูกยางพาราแก่เกษตรกร ซึ่งครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วภูมิภาค โดยทาง สกย. ก็มีความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูลภูมิสารสนเทศ และข้อมูลรายละเอียดประกอบแปลงของสวนยางพาราที่อยู่ในระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ของ สกย. ให้แก่ทางกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อใช้ในกิจการสำคัญของกรม อันจะนำไปสู่การพัฒนาและบริหารจัดการที่ดินของประเทศชาติให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ ทางฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้พัฒนาระบบงานสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เพื่อเก็บข้อมูลพิกัด จากเครื่อง GPS ให้มีการเชื่อมโยงกับข้อมูลระบบตรวจสวนและติดตามสวนสงเคราะห์ ระบบสถาบันเกษตรกร ทำให้สามารถทราบตำแหน่งสวนยาง อายุยาง และข้อมูลของสวนยางพาราในส่วนที่ สกย.รับผิดชอบ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน และให้บริการแผนที่ และข้อมูลทางแผนที่ โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ระหว่างสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางกับกรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งได้ผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการจัดทำร่างบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการใช้แผนที่ และข้อมูลทางแผนที่ ระหว่าง สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กับกรมพัฒนาที่ดิน ได้ให้ความเห็นชอบจากทั้งสองหน่วยงานร่วมกัน
ขณะที่นายอภิชาต จงสกุล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า ในการทำบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นความร่วมมือและการบูรณาการด้านการใช้ประโยชน์แผนที่และข้อมูลทางแผนที่ของทั้งสองหน่วยงานร่วมกัน อันจะเป็นประโยชน์กับงานด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อสนับสนุนงานตามภารกิจของทั้งสองหน่วยงาน ให้สำเร็จ ลุล่วง เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สาธารณสุข การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้แผนที่และข้อมูลทางแผนที่ ที่มีความละเอียดถูกต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน สำหรับนำไปใช้วางแผนงาน โครงการต่างๆ เพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนอีกทั้งยังเป็นการลดความซ้ำซ้อนด้านการสำรวจและจัดทำข้อมูลภูมิสารสนเทศ และเป็นการประหยัดงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของทั้งสองหน่วยงานและของประเทศได้เป็นอย่างมาก
ในส่วนของกรมพัฒนาที่ดินมีภารกิจหลัก ด้านการจัดการทรัพยากรดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน การสำรวจดิน วิเคราะห์และวิจัยดิน สภาพการใช้ที่ดิน การกำหนดเขตการใช้ที่ดิน การวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ดิน การปรับปรุงบำรุงดินการอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนการจัดทำและให้การบริการข้อมูลสารสนเทศด้านการพัฒนาที่ดินที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการวางแผนงานโครงการต่างๆ เพื่อการตัดสินใจในการบริหารจัดการทรัพยากรดินและที่ดิน ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การป้องกันประเทศ และการวางแผนพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ทั้งในระดับประเทศ ระดับภาค และระดับท้องถิ่น ได้แก่ แผนที่และข้อมูลทางแผนที่ของโครงการจัดทำแผนที่เพื่อการบริหารทรัพยากรธรรมชาติและทรัพย์สินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นแผนที่ฐานที่สำคัญของประเทศ แผนที่ดินแผนที่สภาพการใช้ที่ดิน แผนที่เขตเหมาะสมสำหรับปลูกพืชเศรษฐกิจ (Zoning) จำนวน 13 ชนิดพืช ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ลำไย เงาะทุเรียน มังคุด มะพร้าว และกาแฟ โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศที่เกี่ยวข้องกับ สกย. โดยตรงคือ “ยางพารา" ที่ผ่านมา เกษตรกรให้ความสนใจและขยายพื้นที่ปลูกเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดิน ได้จัดทำเขตเหมาะสมพืชเศรษฐกิจยางพาราในระดับภาค จังหวัด อำเภอและตำบล ในรูปแบบของข้อมูลเชิงพื้นที่ในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่สำคัญในการวางแผนงานและกำหนดพื้นที่เป้าหมายสำหรับส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพการผลิตของเกษตรกรเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ การลดต้นทุนการผลิต ตามนโยบายของรัฐ
“กรมพัฒนาที่ดิน มีความพร้อมและยินดีให้การสนับสนุนแผนที่และข้อมูลทางแผนที่ของกรมพัฒนาที่ดินตามกรอบของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ให้แก่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เพื่อนำไปใช้ในภารกิจของ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางและหน่วยงานในสังกัด ตลอดจนการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในด้านต่างๆ ของทั้งสองหน่วยงานร่วมกันต่อไป"
อินโฟเควสท์