- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 11 September 2014 23:53
- Hits: 2802
ก.เกษตรฯ ตั้งเป้าพัฒนายางพาราทั้งระบบครอบคลุมราคา-คุณภาพ-เพิ่มมูลค่า-ประสิทธิภาพ
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงรายละเอียดแนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบ โดยมีเป้าหมายการพัฒนาในด้านราคา คุณภาพ การเพิ่มมูลค่า และประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 2 มาตรการ 9 แนวทาง และ 12 โครงการ คือ โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) จะให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการขยายกำลังการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปยางเบื้องต้น มีเป้าหมายสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จำนวน 245 แห่ง ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี ตั้งแต่ 1 กันยายน 2557 – 31 สิงหาคม 2567 แบ่งวงเงินออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ 1.สินเชื่อเพื่อการลงทุนก่อสร้าง/ปรับปรุงโรงงาน (ยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน ยางคอมปาวด์ น้ำยางข้น ยางเครป และผลิตภัณฑ์ยาง) วงเงินสินเชื่อ 3,500 ล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี ช่วงระยะปีที 1 ถึงปีที่ 2 สถาบันเกษตรกรจะปลอดชำระต้นเงินกู้ แต่ต้องชำระดอกเบี้ยเงินกู้ทุกปี สถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี 2.สินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน วงเงิน 1,500 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี สถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี
สำหรับ เป้าหมายโครงการนี้จะช่วยลดความต้องการขายวัตถุดิบยางพาราในตลาด เพื่อรอจำหน่ายเมื่อเห็นว่ามีราคาที่เหมาะสม เดือนละไม่น้อยกว่า 111,990 ตัน หรือปีละประมาณ 895,920 ตัน โดยคิดจากระยะเวลาการกรีดยางพาราปีละ 8 เดือน สามารถเพิ่มมูลค่าจากการแปรรูปยางพาราของสถาบันเกษตรกรเดือนละไม่น้อยกว่า 274 ล้านบาท หรือปีละประมาณ 2,192 ล้านบาท (คิดจากระยะเวลาการกรีดยางพาราปีละ 8 เดือน) ซึ่งจากการวิเคราะห์ในเบื้องต้นพบว่าการเพิ่มมูลค่ายางพาราจำนวน 2,192 ล้านบาท จากปริมาณยางพารา 895,920 ตัน สามารถเฉลี่ยคืนจากการขายยางให้กับสมาชิกเพิ่มขึ้นได้อีกกิโลกรัมละ 2.44 บาท เกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นสมาชิกสถาบันเกษตรได้รับประโยชน์จากโรงงานแปรรูปยางพาราไม่น้อยกว่า 298,755 ราย และสถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจการแปรรูปยางพารา
ขณะที่โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับราคาโดยเพิ่มสภาพคล่อง ด้านการตลาด มีกลุ่มเป้าหมาย สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จำนวน 723 แห่ง วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท สถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2557 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 การจ่ายเงินกู้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2557 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2558 และการชำระคืนเงินกู้ ไม่เกิน 12 เดือน นับจากวันเริ่มโครงการ โดยไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ซึ่งโครงการนี้จะช่วยชะลอความต้องการขายวัตถุดิบยางพาราในตลาด ในปริมาณเดือนละไม่น้อยกว่า 87,500 ตัน หรือปีละไม่น้อยกว่า 700,000 ตัน (คิดจากระยะเวลาการกรีดยางพาราปีละ 8 เดือน) หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของปริมาณยางที่ผลิตในประเทศ (ปีละ 3.5 ล้านตัน) ช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางที่เป็นสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรไม่น้อยกว่า 500,000 ราย มีแหล่งขายยางพาราในระดับพื้นที่ เป็นการช่วยลดต้นทุนการขนส่งมาจำหน่ายในตลาดกลางหรือแหล่งซื้อขายในเมือง อีกทั้งสามารถได้รับเงินจากการขายยางพาราให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่เข้าโครงการฯ ได้ทันที เกษตรกรชาวสวนยางจึงไม่จำเป็นต้องเร่งรีบที่จะกรีดยางเป็นจำนวนมาก และช่วยให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรไม่น้อยกว่า 700 แห่ง มีความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจการรวบรวมหรือรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยาง เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในระบบสหกรณ์ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางมากยิ่งขึ้น
นายชวลิต กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับโครงการควบคุมปริมาณการผลิตตามแนวทางควบคุมพื้นที่ปลูกยาง สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) จะสนับสนุนการโค่นยางเก่าที่ให้ผลผลิตไม่คุ้มค่า ปีละ 4 แสนไร่ โดยเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่ายางพาราปีละ 1 แสนไร่ ระยะเวลา 7 ปี ทำให้ลดพื้นที่ปลูกยางแบบถาวรได้ 7 แสนไร่ โดยปีแรกผลผลิตยางจะลดลงประมาณ 1.01 แสนตัน และเมื่อครบปีที่ 7 จะลดผลผลิตยางได้ถึง 7.11 แสนตัน
นอกจากนี้ ยังได้ส่งเสริมการถ่ายทอดความรู้ให้ชาวสวนยางใช้ทรัพยากรและปัจจัยการผลิตอย่างคุ้มค่า สามารถใช้เทคโนโลยีเหมาะสมจัดการสวนยางและเน้นลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรรายย่อยผ่านครูยาง เพื่อให้ชาวสวนยางใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการสวนยาง เก็บเกี่ยวผลผลิต พัฒนาการผลิต และส่งเสริมการแปรรูปเบื้องต้นเพื่อเพิ่มมูลค่ายาง และส่งเสริมให้เกษตรกรผู้รับการสงเคราะห์ระหว่างปี 2558 – 2564 ปีละ 1.6 แสนไร่ ใช้ประโยชน์พื้นที่ว่างระหว่างแถวยาง ปลูกพืชคลุมดิน/พืชแซมยาง โดยสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 3 วงเงิน 120 ล้านบาท ให้เกษตรกรใช้เป็นเงินทุนดำเนินการต่อไป
อินโฟเควสท์