- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 23 May 2018 12:10
- Hits: 1652
ก.เกษตรฯ เดินหน้าแผนแม่บทโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร ลุยแล้ว 69 โครงการ ดึงข้าวทำต้นแบบระบบบริหารจัดการ
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร กล่าวถึงการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึงแผนงาน/โครงการ ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 - 2564 รวม 105 โครงการ วงเงิน 41,878 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย 3 แนวทาง ดังนี้
แนวทางหลักที่ 1 การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านโลจิสติกส์การเกษตรตลอดโซ่อุปทาน จำนวน 41 โครงการ วงเงิน 18,596 ล้านบาท (ร้อยละ 44) แนวทางหลักที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์การเกษตร จำนวน 51 โครงการ วงเงิน 22,554 ล้านบาท (ร้อยละ 54) และ แนวทางหลักที่ 3 การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนด้าน โลจิสติกส์การเกษตร จำนวน 13 โครงการ วงเงิน 727 ล้านบาท (ร้อยละ 2) ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม 2560 - กุมภาพันธ์ 2561) เริ่มดำเนินการแล้วจำนวน 69 โครงการ วงเงินรวม 3,463 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบกรอบแนวทางบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์รายสินค้า (ข้าว) เพื่อเป็นต้นแบบในการนำระบบโลจิสติกส์มาแก้ปัญหาสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์และโซ่อุปทานข้าวอย่างยั่งยืน พัฒนาโซ่คุณค่า (Value Chain) และพัฒนาคลัสเตอร์ข้าว เพื่อเข้าสู่ระบบ Agro Community Industry ตามแนวทาง ดังนี้
ต้นทาง เน้นการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อปลูกข้าว พื้นที่ 1,000 ไร่ขึ้นไป ให้เกิดการประหยัดต่อขนาด และใช้หลักการบริหารจัดการฟาร์มแบบสมัยใหม่ (Modern Farm Management) เพื่อให้การวางแผนการผลิต การจัดส่งและกระจายน้ำ การพัฒนาระบบผลิตข้าวคุณภาพ มีประสิทธิภาพสูงสุด
กลางทาง เน้นให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการข้าว มากขึ้น ทั้งการรวบรวม การสีข้าว การแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ รวมถึงการต่อยอดสู่ธุรกิจเกษตรต่อเนื่อง ผ่านศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์ และจัดตั้งศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรของส่วนรวมให้บริการแก่เกษตรกรในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด และปลายทาง เน้นให้ศูนย์กระจายสินค้าสหกรณ์เชื่อมโยงร้านค้าปลีก/ค้าส่ง การส่งออก และตลาด e - commerce
ทั้งนี้ สศก. ในฐานะหน่วยงานหลักของการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาโลจิสติกส์และโซ่อุปทานภาคการเกษตร พ.ศ. 2560 – 2564 ได้จัดทำแผนแม่บทฯ ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ระยะ 20 ปี และแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2560-2564) ซึ่งโครงการต่างๆ ภายใต้แผนแม่บททั้ง 105 โครงการ เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ หน่วยงานภายนอก ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงวิทยาศาสตร์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาโลจิสติกส์การเกษตร พัฒนากระบวนการส่งมอบสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ลดความสูญเสียและรักษาคุณภาพสินค้าเกษตรทั้งระหว่างขนส่งและเก็บรักษา เพื่อการส่งมอบที่รวดเร็วและมีต้นทุนโลจิสติกส์ที่เหมาะสม ให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรไทย และเกิดความพึงพอใจสูงสุด
อินโฟเควสท์