- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 09 September 2014 18:47
- Hits: 2665
ก.เกษตรฯ ระบุ นาปี-ปรัง ผลผลิตต่อไร่เพิ่ม คาด การส่งออกยังเจ๋ง จากความต้องการโลกเพิ่มขึ้น
ก.เกษตรฯ คาด ข้าวนาปี 57/58 และ นาปรัง ปี 58 เนื้อที่เพาะปลูกลดจากราคาที่ต่ำลง โดยผลผลิตต่อไร่เพิ่มเนื่องจากปริมาณน้ำเพียงพอ ส่วนแนวโน้มการส่งออกปี 58 ยังส่งออกได้มากใกล้เคียงกับปี 57 จากความต้องการข้าวโลกเพิ่มต่อเนื่อง เผย มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร เน้นเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เชื่อมโยงแหล่งตลาด สนุบสนุนเงินทุน พร้อมกำหนดโซนนิ่ง
นายอนันต์ ลิลา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตข้าวนาปี ปี 2557/58 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค.57) พบว่า มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.758 ล้านไร่ ผลผลิต 27.579 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 447 กิโลกรัม ซึ่งเนื้อที่เพาะปลูกลดลงจากปี 2556/57 เนื่องจากการปรับเปลี่ยนนโยบายภาครัฐ รวมทั้งราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงาน เนื่องจากเห็นว่าเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนดี มีแหล่งรับซื้อแน่นอน และเกษตรกรในภาคใต้ปรับเปลี่ยนไปปลูกปาล์มน้ำมัน
สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้นจากการดูแลเอาใจใส่ และปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในเดือน พ.ย. – ธ.ค.57 มีปริมาณ 14.038 และ 8.036 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 50.90 และ 29.14 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ตามลำดับ ทั้งนี้ สำหรับช่วงไตรมาสที่ 4 (ต.ค. – ธ.ค. 57) คาดว่ามีเนื้อที่เพาะปลูก 1.161 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 1.88 ของเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปี ปี 2557/58 และผลผลิตข้าวนาปีจะออกสู่ตลาดปริมาณ 24.022 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 87.10 ของผลผลิตข้าวนาปี ปี 2557/58
ข้าวนาปรัง ปี 2558 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค.57) คาดว่ามีเนื้อที่เพาะปลูก 12.238 ล้านไร่ ผลผลิต 8.248 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 677 กิโลกรัม เนื้อที่เพาะปลูกลดลงจากปี 2557 เนื่องจากแนวโน้มราคาข้าวลดลง ไม่จูงใจให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกโดยเฉพาะเนื้อที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน สำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากคาดว่าปริมาณน้ำในเขื่อนและปริมาณน้ำฝนจะเพียงพอต่อการเพาะปลูกและเกษตรกรจะไม่ปลูกเกินเป้าหมายการส่งน้ำของภาครัฐมากนัก โดยผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – ตุลาคม 2558 และออกสู่ตลาดมากในเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2558 ปริมาณ 2.495 และ 1.914 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 30.25 และ 23.21 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด ตามลำดับ และสำหรับในช่วงไตรมาสที่ 4 (ต.ค. – ธ.ค.57) เป็นช่วงที่เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกข้าวนาปรัง คาดว่ามีเนื้อที่ปลูก 2.837 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 23.18 ของเนื้อที่ปลูกข้าวนาปรังปี 2558
การส่งออก ปี 2557 คาดว่าส่งออกข้าวปริมาณ 9.00 – 10.00 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2556 เนื่องจากราคาข้าวไทยปรับตัวลดลงใกล้เคียงกับประเทศคู่แข่งทำให้สามารถแข่งขันได้ ประกอบกับนโยบายการบริหารจัดการสต็อกของรัฐบาลที่ชัดเจน สำหรับแนวโน้มการส่งออก 2558 คาดว่าจะส่งออกได้มากใกล้เคียงกับปี 2557 เนื่องจากความต้องการข้าวของโลกยังเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วง ม.ค. – ก.ค.57 ไทยส่งออกข้าวได้ 5.621 ล้านตันข้าวสาร มูลค่า 90,850 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ที่ส่งออกได้ 3.614 ล้านตันข้าวสาร มูลค่า 75,348 ล้านบาท ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.53 และร้อยละ 20.57 ตามลำดับ
ด้านราคา ปี 2557 คาดว่ามีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปี 2556 เนื่องจากราคาเป็นไปตามกลไกตลาด โดยราคาที่เกษตรกรขายได้ช่วง ม.ค. – ส.ค. 2557 ข้าวเปลือกหอมมะลิ เฉลี่ยตันละ 14,167 บาท ลดลงจากตันละ 15,776 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 56 ร้อยละ 10.20 ส่วนข้าวเปลือกความชื้น 15% เฉลี่ยตันละ 7,496 บาท ลดลงจากตันละ 9,950 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 56 ร้อยละ 24.66
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2557/58 มติ ครม.คสช. เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 57 เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ประกอบด้วย มาตรการหลัก ได้แก่ การลดต้นทุนการผลิต โดยการลดราคาปัจจัยการผลิตและบริการ แบ่งเป็น ค่าปุ๋ยเคมี ค่าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าบริการรถเกี่ยวข้าว และค่าเช่าที่นา และ มาตรการสนับสนุน ประกอบด้วย มาตรการเร่งด่วน ได้แก่ มาตรการสนับสนุนแหล่งเงินทุน (โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้) มาตรการส่งเสริมการตลาด (การเร่งหาตลาดใหม่ การเชื่อมโยงการตลาดข้าวสารในและต่างประเทศ การช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก และสินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก) มาตรการส่งเสริมการมีส่วนร่วม (โครงการประกันภัยข้าวนาปี) และมาตรการระยะยาว ได้แก่ มาตรการส่งเสริมปัจจัยการผลิต (การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว การจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ กำหนดเขต Zoning และจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน) และมาตรการส่งเสริมการมีส่วนร่วม (การจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพการค้าข้าว และการจัดตั้งกองทุนข้าวและชาวนาแห่งชาติ)