- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 03 March 2018 12:09
- Hits: 2153
สศก.เผยเกษตรกรพอใจโครงการนาแปลงใหญ่ปี 60 ช่วยลดต้นทุน 15% รายได้เพิ่ม 35%
นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยผลประเมินโครงการนาแปลงใหญ่หลักเกณฑ์ใหม่ของปี 2560 เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรวมกลุ่มบริหารจัดการเมล็ดพันธุ์รวมกัน ผลิตข้าวคุณภาพได้มาตรฐานข้าวไทย ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ภายใต้การบูรณาการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยปี 2560 มีพื้นที่ที่สามารถดำเนินการในระบบนาแปลงใหญ่หลักเกณฑ์ใหม่ ปี 2560 รวม 51 จังหวัด จำนวน 747 แปลง พื้นที่ 752,659 ไร่ เกษตรกร 55,087 ราย ซึ่ง สศก.ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งประธานกลุ่ม และผู้จัดการแปลง ใน 15 จังหวัด จำนวน 585 ตัวอย่าง เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2560
โดยกรมการข้าวได้ให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่ที่เป็นสมาชิกไปใช้และบริหารจัดการร่วมกัน ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ข้าว กระสอบบรรจุภัณฑ์ เครื่องหยอดข้าวแห้งติดรถไถเดินตามชนิดใบผ่านร่อง เครื่องหยอดข้าวแห้งติดรถแทรคเตอร์เครื่องหยอดข้าวรุ่นดัดแปลงสำหรับนาน้ำตม เครื่องคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งมีการถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ และการผลิตข้าวคุณภาพดี (GAP) ตามกระบวนการโรงเรียนเกษตรกร
ด้านค่าใช้จ่าย เกษตรกร 84% สามารถลดค่าใช้จ่ายปัจจัยการผลิตในการทำนาลง 512 บาทต่อไร่ หรือลดลง 15% จากเดิมมีค่าใช้จ่าย 3,359 บาทต่อไร่ ในปี 2559/60 ลดเหลือ 2,847 บาทต่อไร่ ในปี 2560/61 ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นค่าพันธุ์ ปุ๋ยเคมี และการใช้สารเคมีน้อยลง
ด้านผลผลิต เกษตรกร 78% มีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นประมาณ 12 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 2% จากเดิมมีผลผลิตประมาณ 631 กิโลกรัมต่อไร่ ในปี 2559/60 เพิ่มเป็น 643 กิโลกรัมต่อไร่ ในปี 2560/61 ขณะเดียวกันผลผลิตที่ได้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นด้วย โดยเกษตรกร 53% ผลิตข้าวได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเดินหน้าสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าสู่การรับรองมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้สนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่ม เพื่อทำข้อตกลงซื้อขายกับเอกชน (MOU) จำนวน 221 แปลง ส่งผลให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตสูงกว่าราคาในท้องตลาดประมาณ 100-200 บาทต่อตัน
ด้านผลตอบแทนสุทธิ เกษตรกรมีผลตอบแทนสุทธิเพิ่มขึ้นประมาณ 533 บาทต่อไร่ หรือ 35.89% จากเดิมผลตอบแทนสุทธิ 1,485 บาทต่อไร่ ในปี 2559/60 เพิ่มเป็น 2,018 บาทต่อไร่ ในปี 2560/61 และจากการสนับสนุนปัจจัยและเทคโนโลยีมาใช้ พบว่า เกษตรกร 73% มีความพึงพอใจในระดับมาก เนื่องจากได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ มีการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร และสามารถสร้างความสามัคคีความเข้มแข็งในการรวมกลุ่มนาแปลงใหญ่ได้เป็นอย่างดี
สำหรับ การดำเนินการในปี 2561 กระทรวงเกษตรฯ จะดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรเห็นถึงผลประโยชน์ที่ได้รับ มีรายได้ที่มั่นคง ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต บูรณาการหน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้มีการเชื่อมโยงโดยใช้ตลาดนำการผลิต ทั้งนี้ เพื่อให้กลุ่มแปลงใหญ่มีการบริหารจัดการด้วยเกษตรกรเอง สามารถเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรได้ในระยะต่อไป และเป็นกลุ่มนาแปลงใหญ่ที่ยั่งยืนในระยะยาว
อินโฟเควสท์