WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

'หนูรักษ์ แสนโสภา' ยึดหลัก เศรษฐกิจพอเพียง วัคซีน ป้องกันความยากจน

                        บ้านเมือง : สนธยา ทิพย์อุตร/อำนาจเจริญ

    ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ ให้การส่งเสริมสนับสนุน ประชาชน น้อมนำพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรัชญา'เศรษฐกิจพอเพียง' ไปปรับใช้ในที่นาและชีวิตประจำวัน จนประสบความสำเร็จ กลายเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นวัคซีนป้องกันความยากจน อยู่กันอย่างมีความสุข

    นางหนูรักษ์ แสนโสภา เกษตรกรผู้ทำนาปลูกข้าว แห่งหมู่บ้าน กุดซวย ต.คำพระ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ อีกหนึ่งต้นแบบความสำเร็จ ซึ่งได้น้อมนำพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับ ปรัชญา'เศรษฐกิจ พอเพียง'ไปปรับใช้ในที่นา จำนวน 23 ไร่ ตลอดระยะ เวลากว่า 10 ปี นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก จนกลายเป็นศูนย์ เรียนรู้ "เศรษฐกิจ พอเพียง" ต้นแบบศูนย์ฯ ดีเด่นของสำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.อำนาจเจริญ ส่งผลให้เกษตรกรและผู้สนใจเดินทางเข้า ไปศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง

    นางหนูรักษ์ แสนโสภา อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 22 หมู่ 10 บ้านกุดซวย ต.คำพระ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ ประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจ พอเพียง ประจำบ้านกุดซวย เล่าว่า มีอาชีพทำนาปลูกข้าวมาตั้งแต่พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย จึงมีความรู้และความชำนาญในการทำนาปลูกข้าวเป็นอย่างดี ประกอบกับสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ เข้ามาให้การช่วยเหลือและส่งเสริมสนับสนุนอย่างเต็มที่และแนะนำ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ในรูปแบบการจัดอบรมและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เพียงไม่กี่ปี จนกลายเป็น ศูนย์เรียนรู้ เศรษฐกิจพอเพียง เต็มรูปแบบ โดยแบ่งพื้นที่ทั้งหมดจำนวน 23 ไร่ ดังนี้

    1.ทำนาปลูกข้าวทั้งข้าวจ้าวและข้าวเหนียว จำนวน 16 ไร่ ผลผลิตข้าวมีรับประทานตลอดปีที่เหลือก็จะขาย

    2. ที่เหลืออีก 7 ไร่ จัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ เศรษฐกิจพอเพียง ภายในศูนย์ฯ มีกิจกรรมหลากหลาย เช่น ทำเป็นบ่อน้ำ จำนวน 5 บ่อ สำหรับเลี้ยงปลาตามธรรมชาติ มีทั้งปลานิล ไน ตะเพียน ยีสก ปลาดุก ฯลฯ ซึ่งรอบๆ ปากบ่อ ก็มีการปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อใช้ประกอบเป็นอาหาร รวมทั้ง เลี้ยงหมู เป็ด ไก่ วัว เลี้ยงกบในกระชัง เลี้ยงกบในบ่อพลาสติกเพื่อทำเป็นอาหารเลี้ยงเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจเข้ามาเยี่ยมขมศูนย์ฯ ได้รับประทาน นอกนั้นก็จะส่งขายตลาดใน อ.หัวตะพาน จึงเป็นการสร้างรายได้ดีระดับหนึ่ง

    นอกจากนี้ ยังมีการเพาะกล้าพืชผักหลายชนิดในถาดพลาสติก อาทิ เช่น ผักกาด คะน้า หอม ฯลฯ เพื่อนำไปปลูกในแปลงผัก ไว้ประกอบอาหาร ที่เหลือก็จะส่งขายตลาดใน ต.คำพระ หรือหมู่บ้านใกล้เคียง

    สำหรับ การเพาะกล้าผักในถาดหลุม มีวิธีการที่ไม่ยุ่งยาก กล่าวคือ เริ่มแรกนำดินที่ผสมกับปุ๋ยอินทรีย์แล้ว ใส่ลงไปในถาดหลุมพอประมาณ ต่อมาใช้ไม้นำร่องเจาะเป็นรู เสร็จแล้ว หย่อนเมล็ดพันธุ์ผักที่เราจะปลูกลงไป จากนั้น ลดน้ำในตอนเช้าวันละ 1 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 4 วัน ก็จะงอกเป็นต้นกล้า อีก 7 วัน ให้นำต้นกล้าไปปลูกยังแปลงที่เตรียมไว้แล้ว ซึ่งแปลงผักจะต้องเป็นดินผสมปุ๋ยอินทรีย์ ผ่านการตากแดดฆ่าเชื้อโรคแล้ว 1 วัน รดน้ำทุกวัน ประมาณ 15 วัน ผักก็จะเจริญเติบโต สามารถนำไปประกอบอาหารหรือเก็บขายได้ ซึ่งที่ผ่านมา จะมีพ่อค้าเดินทางเข้ามาซื้อถึงที่นี่เพื่อนำไปจำหน่ายยังตลาดอีกต่อหนึ่ง ซึ่งพ่อค้ามั่นใจผลผลิตทุกอย่างที่ออกจากศูนย์เรียนรู้ เศรษฐกิจพอเพียงมาก เนื่องจากปลอดสารเคมี 100% ส่วนแหล่งน้ำก็จะใช้เครื่องสูบน้ำจากบ่อทั้ง 5 บ่อ ขึ้นถัง สูงจากพื้นดินประมาณ 10 เมตร ส่งน้ำไปตามท่อ พีวีซี หล่อเลี้ยงพืชผักในศูนย์ฯ อย่างเพียงพอและมีน้ำตลอดปี

    นายอำไพ ประเสริฐสังข์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ กล่าวว่า ได้น้อมนำพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับ เศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ นำไปปรับใช้ในที่นาและในการดำเนินชีวิต ทั้งด้านวิชาการและวัสดุ-อุปกรณ์ ในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และหลายหมู่บ้านกลายเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ ได้มีการคัดเลือกเกษตรกรและศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงดีเด่น ระดับจังหวัดอำนาจเจริญ ด้วยการมอบใบประกาศเกียรติคุณ เชิดชู ยกย่อง แก่เกษตรกรดีเด่นและศูนย์ฯ ดีเด่น เป็นประจำทุกปีอีกด้วย...

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!