- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 31 January 2018 16:32
- Hits: 3298
นักวิชาการนานาชาติ เข้าศึกษาดูงานฟาร์มสุกรมาตรฐาน ซีพีเอฟ ที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบในสัตว์
นักวิชาการนานาชาติเข้าศึกษาดูงานฟาร์มสุกรมาตรฐานของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ที่บริหารจัดการฟาร์มตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ มุ่งเน้นให้สัตว์มีสุขภาพดี โดยพยายามลด ละ เลิก การใช้ยาปฏิชีวนะหรือใช้ยาปฏิชีวนะด้วยความรับผิดชอบเพื่อลดปัญหาเชื้อดื้อยาซึ่งเป็นปัญหาที่สังคมโลกให้ความสนใจ โดยสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มจะควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเข้มงวดตามข้อกำหนดทั้งในระดับประเทศและสากล เพื่อส่งต่ออาหารคุณภาพดีและปลอดภัยสู่ผู้บริโภคอย่างยั่งยืน
นักวิชาการนานาชาติกว่า 40 คนที่มาในครั้งนี้เป็นผู้เข้าร่วมการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลปี 2561 (Prince Mahidol Award Conference 2018) จัดโดย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลในพระบรมราชูปถัมภ์ ระหว่างวันที่ 29 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2561 ที่กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเวทีระดับโลกที่เปิดโอกาสให้ผู้นำด้านสุขภาพในทุกภาคส่วน ทั้งผู้บริหารและนักวิชาการทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเสนอแนวทางเพื่อการขับเคลื่อนประเด็นนโยบายด้านสุขภาพที่สำคัญระดับโลก โดยประเด็นหลักในปี 2561 เป็นเรื่องการทำให้โลกปลอดภัยจากภัยคุกคามด้านโรคติดต่ออุบัติการณ์ใหม่ (Making the word safe from The threats of emerging infectious disease)
สำหรับ นักวิชาการกลุ่มนี้ให้ความสนใจด้านการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบในสัตว์ เพื่อลดปัญหาเชื้อดื้อยา ที่สามารถติดต่อมาสู่คนได้ โดยการที่คณะทำงานขอเข้าศึกษาดูงานที่ฟาร์มระยอง 2 ของซีพีเอฟในครั้งนี้ เพราะเห็นว่าฟาร์มระยอง 2 เป็นฟาร์มที่มีการบริหารจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ตามข้อกำหนดของกรมปศุสัตว์ด้านการปฏิบัติตามหลักการทำเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice) มีมาตรการส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรมีคุณภาพ รวมถึงมีนโยบายการใช้ยาปฏิชีวนะที่ชัดเจน
น.สพ.ดำเนิน จตุรวิธวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านสัตวแพทย์บริการวิชาการ ซีพีเอฟ กล่าวว่า การเลี้ยงสุกรที่ดีนั้นจะต้องมุ่งเน้น การป้องกันโรคที่ดี การจัดการฟาร์มทีดี โรงเรือนที่ดี อาหารที่ดี และสายพันธุ์สุกรที่ดี เพื่อทำให้สัตว์มีสุขภาพดี โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะใดๆ และหากสุกรในฟาร์มมีอาการป่วยเกิดขึ้น สัตวแพทย์จะทำการวินิฉัยโรคและเลือกใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อการรักษาอย่างรับผิดชอบ โดยจะเลือกใช้ยาปฏิชีวนะที่ผ่านการับรองให้ใช้ในสัตว์เป็นลำดับแรกก่อนเสมอ และออกใบสั่งยาเพื่อให้การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นไปอย่างถูกต้อง และติดตามผลการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัญหาเชื้อดื้อยา
ซีพีเอฟ ได้ประกาศนโยบาย วิสัยทัศน์ระดับโลกด้านการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ (Global Vision on Antimicrobials Use in Animals) ตั้งแต่ 16 ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นไปตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก เพื่อให้ทุกหน่วยงานของซีพีเอฟทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศทั่วโลกนำไปปฏิบัติ อันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตอาหารปลอดภัยภายใต้วิสัยทัศน์ของบริษัทที่มุ่งสู่ “ครัวของโลก”
ซีพีเอฟ จะทำงานตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารโปรตีนทั่วโลก เริ่มจากงานด้านการวิจัยและพัฒนา การคัดเลือกวัตถุดิบ การผลิตอาหารสัตว์ การทำฟาร์ม การแปรรูปอาหาร เพื่อส่งมอบอาหารปลอดภัยและคุณภาพดีสู่ผู้บริโภค และซีพีเอฟ จะทำงานร่วมกับ การปฏิบัติการจัดการด้านสุขภาพ (health management practices) เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมตามหลักการ “สุขภาพหนึ่งเดียว” (One health) ในการปกป้องสุขภาพของคน สัตว์ และโลกของเรา.