- Details
- Category: Exchange
- Published: Sunday, 18 March 2018 23:54
- Hits: 1422
รัฐบาลคุมเบ็ดเสร็จเงินดิจิทัล 'อภิศักดิ์' สั่งกรมสรรพากรเก็บภาษีแวต 7% รองนายกรัฐมนตรียอมรับคุมเงินดิจิทัลป้องกันรายย่อยเสียหาย ขณะที่คลังจ้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอีกรายการ พร้อมกับหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15
“อภิศักดิ์” ลั่นเก็บภาษีแวต 7% และภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% สกัดสกุลเงินดิจิทัลและไอซีโอ สอดคล้องกับกลุ่มจี 20 และนายแบงก์ใหญ่ทั่วโลก หวั่นลูกค้าแบงก์เล่น
‘คลัง’ เตรียมเก็บภาษีซื้อขายเงินดิจิทัล
รองนายกรัฐมนตรียอมรับคุมเงินดิจิทัลป้องกันรายย่อยเสียหาย ขณะที่คลังจ้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอีกรายการ พร้อมกับหัก ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 เพราะไม่ต้องการส่งเสริมแต่ไม่ปิดกั้น
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังจากเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรในการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัลด้วยการให้ตัวกลาง เช่น ตัวแทน ดีลเลอร์ โบรกเกอร์ หักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 เมื่อมีเงินได้เกิดขึ้นจากการซื้อขาย เพื่อนำไปใช้คำนวณกำไรและเงินปันผลจากการซื้อขายหรือได้รับผลตอบแทนจากสกุลเงินดิจิทัอลในช่วงปลายปี เมื่อหักเงินนำส่งกรมสรรพากรแล้วหากมียอดเงินเกินกว่าภาษีต้องจ่ายสามารถขอเคลมคืนเงินภาษีได้ หากจ่ายไม่พอต้องจ่ายเพิ่ม ยอมรับว่าไม่เหมือนกับการหัก ณ ที่จ่ายของดอกเบี้ยเงินฝากของแบงก์ไปเลยครั้งเดียวจบ หรือยกเว้นภาษีการซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้น เพราะรัฐบาลไม่ต้องการส่งเสริมให้ซื้อขายเงินสกุลดิจิทัล
นายอภิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อรัฐบาลกำหนดนิยามว่า คริปโตเคอเรนซี และโทเคน เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลมีมูลค่า จึงต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยใช้ประมวลรัษฎากรปัจจุบันดำเนินการจัดเก็บไม่ต้องออกกฎหมายฉบับใหม่เพิ่ม โดยใช้กฎหมายปัจจุบันบังคับใช้จะดำเนินการไปพร้อมกัน เมื่อ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีผลบังคับใช้ แนวทางการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 จากยอดเงินซื้อขาย เน้นกับกลุ่มตัวแทน ดีลเลอร์ โบรกเกอร์ สำหรับบุคคลรายย่อยได้รับการยกเว้นเหมือนกับการซื้อตราสารทองคำ เพื่อสะสมของนักลงทุนรายย่อยได้รับการยกเว้น
นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยังต้องกำหนดให้ ผู้ประกอบการ ทั้งศูนย์ซื้อขาย ดีลเลอร์ โบรกเกอร์ ต้องมาขอใบอนุญาตและดำเนินการตามข้อกำหนด เช่น การยืนยันตัวตน (KYC) และการแจ้งเส้นทางการเงินให้กับ ก.ล.ต.รับทราบ เพื่อป้องกันการฟอกเงินจากเงินผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีบทลงโทษ หากกระทำผิดทั้งปรับและจำคุก คาดว่าจะกำหนดให้เอกชนตัวกลางเข้ามาลงทะเบียนขอไลเซ็นต์ได้ในช่วง 6 เดือนข้างหน้า อีกทั้งได้คุยกับแบงก์ต่างชาติหลายแห่ง ยอมรับว่าไม่ส่งเสริมให้ลูกค้าซื้อขายสกุลดิจิทัล ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงไม่ต้องการให้สถาบันการเงินเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล แต่นำระบบบล็อกเชนมาใช้ประโยชน์ในธุรกรรมของแบงก์ได้ เพราะเป็นระบบดีในปัจจุบัน แต่ไม่ได้เปิดซื้อขายสกุลดิจิทัล เพราะ ธปท. ไม่ยอมรับว่าคริปโตเคอเรนซีในการแลกเปลี่ยน แต่ไม่ได้ปิดกั้น เพราะจะถูกมองว่าล้าหลัง เพียงแต่ต้องการควบคุมไม่ให้ได้รับความเสียหาย
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ใช่เป็นการห้ามหรือปิดกั้นการซื้อขายสกุลดิจิทัล แต่ต้องการควบคุมให้อยู่ในขอบเขต ไม่ใช่ปล่อยให้ซื้อขายจนเกิดความเสียหายกับนักลงทุน โดย กระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) และ ก.ล.ต.ร่วมกันดูแลอย่างใกล้ชิด โดยหลังจากกฤษฎีกาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม จะนำกลับเสนอ ครม.พิจารณาอีกครั้ง เพื่อประกาศบังคับใช้
ส่วนกรณีค่าเงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้นอีกในวันนี้ ธปท.ดูแลอยู่แล้ว และหากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทยอยปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยคาดว่าจะเป็นปัจจัยลดแรงกัดดันให้เงินค่าอ่อนลดลงมาได้บ้าง
ครม.อนุมัติเเล้ว! เก็บภาษีทรัพย์สินดิจิทัล ป้องโกง-ฟอกเงิน คุ้มครองปชช.ที่อาจได้รับผลกระทบ
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล ภายใต้ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. … เพื่อป้องกันการโกงและฟอกเงินที่อาจเกิดขึ้น เพื่อคุ้มครองประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการทำธุรกรรมหรือทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เนื่องจากที่ผ่านมาไทยไม่มีกฏหมายที่ดูแลธุรกิจดิจิทัล โดยเรื่องนี้สัปดาห์หน้า น่าจะมีความชัดเจนเรื่องของอัตราการเก็บภาษี วิธีการ และรายละเอียดหลังผ่านกฤษฎีกาตีความแล้ว
ปัจจุบันประมวลรัษฎากรยังไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลไว้ จึงอาจเกิดความไม่ชัดเจน ดังนั้นเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร โดยกำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัล ประเภทเงินได้ของเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล และการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล เพื่อให้ผู้มีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัล และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินดิจิทัลเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรอย่างถูกต้องครบถ้วนเช่นเดียวกันกับผู้มีเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินอื่นๆ และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับทรัพย์สินอื่นๆ และเนื่องจากในปัจจุบันได้มีการนำทรัพย์สินดิจิทัลมาใช้ในการประกอบธุรกิจและการกระทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศแล้ว โดยมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนเพื่อความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งจะต้องตราพระราชกำหนด
สำหรับ การกำหนดนิยามของทรัพย์สินดิจิทัลในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรดังนี้ 1. ทรัพย์สินดิจิทัลหมายความว่า 1.1คริปโทเคอร์เรนซี หมายความว่า หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจมีราคาหรือมูลค่าอันถือเอาได้ โดยเป็นการตกลงหรือยอมรับระหว่างบุคคลในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด โดยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่มีการอ้างอิงเงินตรา เงินตราต่างประเทศ หรือสินค้าโภคภัณฑ์, 1.2 โทเคนดิจิทัล หมายความว่า หน่วยแสดงสิทธิในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใดๆ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด ทั้งนี้ ตามข้อตกลงที่กำหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ และ 1.3 ทรัพย์สินในรูปหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด
2. ส่วนเพิ่มประเภทย่อยของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4) แห่งประมวลรัษฎากรอีก 2 ประเภทสำหรับเงินได้เนื่องมาจากทรัพย์สินดิจิทัลดังนี้ 2.1 มาตรา 40(4)(ซ) เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดที่ได้จากทรัพย์สินดิจิทัล 2.2 มาตรา 40(4)(ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนทรัพย์สินดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
3. กำหนดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ซ) และมาตรา 40(4)(ฌ) โดยผู้มีเงินได้ต้องนำไปรวมคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย สำหรับการกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายนั้นสามารถดำเนินการโดยการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. …) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้และคำสั่งกรมสรรพากร เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากรมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การจัดเก็บภาษีจากทรัพย์สินดิจิทัล) มีผลใช้บังคับแล้ว
นักกฏหมายแนะรัฐทบทวนเก็บภาษีจากคริปโตเคอเรนซี หวั่นนลท.ย้ายเทรดต่างประเทศ
นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญกฎหมายไอที กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจทรัพย์สินดิจิทัล และร่างแก้ไขประมวลรัษฎากรเพื่อการจัดเก็บภาษีรายได้และเงินปันผลที่เกิดจากการลงทุนเงินสกุลดิจิทัลว่า ในภาพรวมตัวพ.ร.ก.น่าจะพอไปได้ ในส่วนประมวลรัษฎากรรัฐบาลน่าจะถอยมารอดูจังหวะน่าจะเหมาะมากกว่า เรื่องภาษีเป็นเรื่องที่จัดเก็บลำบาก ยิ่งเมี่อกลไกของการเทรดซับซ้อนยิ่งต้องดูให้ดี ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการไล่นักลงทุนออกไปจากประเทศกลายเป็นผลเสียมากกว่าผลดี
"ถ้าพ.ร.ก.ดูแค่การควบคุมการหลอกลวงประชาชนน่าจะพอ แต่ถ้าไปแตะถึงการลงทะเบียนคนเทรด และจะเก็บภาษีจะเป็นการไล่ไม่เอาธุรกิจประเภทนี้สุดท้ายจะกลายเป็นผลเสียไม่ใช่ผลดี" นายไพบูลย์กล่าว
พร้อมยกตัวอย่างประเทศสหรัฐฯ ที่ยังจับตาดูเรื่อง ICO ว่าจะมีการเติบโตอย่างไร ซึ่งตลาดใหญ่อยู่ในจีนและเกาหลี สหรัฐฯ จึงแค่ออกประกาศเตือนแต่ยังไม่ควบคุม ส่วนการทำ Data mining กับการทำข้อตกลงล่วงหน้าในการซื้อขาย (Future) เป็นสิ่งที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐให้การสนับสนุน ดังนั้นไทยน่าจะรอดูก่อน การป้องกันการฉ้อโกงเป็นเรื่องดี แต่การจัดเก็บภาษีเร็วไปน่าจะไม่ส่งเสริมการลงทุนและไม่ส่งเสริมไทยแลนด์ 4.0
โดยมีประเด็นที่น่ากังวล 3-4 ประเด็น คือ 1.การที่รัฐเข้าไปควบคุมผู้ประกอบการโดยให้มีการลงทะเบียนเพื่อป้องกันการหลอกลวงเป็นเรื่องที่ดี ส่วนการที่จะเก็บภาษีจากเงินดิจิทัลน่าจะเป็นปัญหา เพราะประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานกลางที่จะดูแลเรื่องนี้ ประกอบกับยังมีบุคคลากรไม่มากที่เชี่ยวชาญหรือเข้าใจเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล โดยเฉพาะการดูแลการขึ้น-ลงของค่าเงินประเภทนี้ สกุลเงินดิจิทัลยังมีหลายสกุลมีการขึ้นลงเร็ว การกำหนดเกณฑ์ในการดูแลทำได้ยาก ส่วนใหญ่การทำงานจะรันบนแพลตฟอร์มที่เป็นอุปกรณ์โมบาย การจะไปคำนวณเพื่อหักภาษี ณ ที่จ่ายจึงทำไม่ได้เลย
2. ความพยายามเก็บภาษีจาก e-Commerce ที่ผ่านมารัฐไม่มีกลไกและบุคลากรที่จะเก็บภาษีอย่างมีคุณภาพได้เลย คริปโตเคอเรนซี่จะยิ่งน่ากังวลกว่า เพราะเป็นแอพพลิเคชั่น การจะมาประเมินมูลค่าจึงทำได้ยาก โดยเฉพาะราคากลาง เพราะแต่ละประเทศอ้างอิงและกำหนดมูลค่าแตกต่างกัน
3. การควบคุมถ้าดูแลอย่างไม่เคร่งครัดเพียงกำหนดกรอบกว้างๆ ให้แข่งขันได้ เงินดิจิทัลจะเติบโต แต่ถ้ามีการควบคุมมากเกินไปเอกชนจะออกไปเทรดในต่างประเทศมูลค่าธุรกรรมจะไหลออกไปอยู่ต่างประเทศ ถ้ากฎหมายเข้มจะเป็นการไล่แขก การตั้งเซิร์ฟเวอร์และการเทรดจะไปอยู่ต่างประเทศทั้งหมด สุดท้ายสิ่งที่อยู่ในประเทศไทยจะเป็นเพียงโฮสติ้ง เหมือนเช่นเฟสบุ๊ก กูเกิ้ล หรือโซเชียลมีเดียที่เซิร์ฟเวอร์อยู่เมืองนอก การเป็นโฮสติ้งไม่ผิดกฎหมาย และไม่สามารถเก็บภาษีอะไรได้เลย
4.เมื่อดูนิยามของร่างกฎหมายจะแตะเพียงแค่เงินดิจิทัล ไม่ได้ข้ามไปถึงการทำ Data mining (เหมืองข้อมูล) เรื่องสกุลเงินดิจิทัลครอบคลุมไปถึงการทำเหมือนขุดบิดคอยน์ เมื่อดูในภาพกว้างยังครอบคลุมถึงการทำธุรกิจชำระเงินด้วยบิดคอยน์ซึ่งเป็นสิทธิของเอกชนจะทำได้ ดังนั้นการเขียนกฎหมายกว้างๆ น่ะจะเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย
อินโฟเควสท์