- Details
- Category: BLOCKCHANCE
- Published: Tuesday, 05 July 2022 16:47
- Hits: 2176
Zipmex และ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CITU) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ พร้อมผลักดันการใช้สินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์
Zipmex และ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MoU) ด้านการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนา และผลิตบุคลากรทางด้านนวัตกรรมการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ณ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โดยมี ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Zipmex Thailand และ ผศ.ดร. ชยกฤต อัศวธิตานนท์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เกียรติเป็นผู้แทนจากแต่ละฝ่ายในการลงนาม พร้อมมีคณะผู้บริหาร และทีมงานจากทั้งสองฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน
ดร.เอกลาภ ได้พูดถึงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการเงินของบริษัทว่า Zipmex มีรากฐานการดำเนินกิจการบนโครงสร้างเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ การประมวลผลและเก็บข้อมูลผ่านระบบคลาวด์ และการใช้บล็อกเชนในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ไม่เพียงเพื่อส่งเสริมด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเพื่อให้สังคมสามารถเปลี่ยนผ่านไปยังโลกยุคเว็บ 3.0 ได้อย่างยั่งยืนเท่าทันสากล
“อย่างไรก็ตาม ความมุ่งมั่นของ Zipmex คือการได้เป็นผู้ส่งมอบและแบ่งปันองค์ความรู้ด้านสินทรัพย์ดิจิทัลและการลงทุนอย่างยั่งยืนให้แก่สังคม โดยเราได้ร่วมมือกับทั้งภาคเอกชนและรัฐบาลอย่างหลากหลายมิติในทุกโอกาส เรายึดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมและประเทศไทยเป็นหลักสำคัญ เพราะเรามีเป้าหมายที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศ ให้เป็นหนึ่งในศูนย์กลางสินทรัพย์ดิจิทัลของโลก” ดร.เอกลาภ กล่าว
ในขณะเดียวกัน ผศ.ดร. ชยกฤต กล่าวเสริมว่า ในฐานะที่ตนเป็นบุคลากรทางการศึกษา จึงเห็นว่าการประสานความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะช่วยส่งเสริม และกระตุ้นให้เหล่านักศึกษาซึ่งเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ได้เห็นภาพที่ชัดเจนและมีความรู้ ความเข้าใจทางการเงิน (financial literacy) มากยิ่งขึ้น
“โลกการเงินกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ด้วยเหตุนี้ ทางวิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงต้องการผู้ที่มีประสบการณ์จริงในอุตสาหกรรมอย่าง Zipmex มาร่วมยกระดับนวัตกรรมการจัดการมรดกวัฒนธรรม และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเน้นการใช้แนวคิดเชิงกลยุทธ์เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการบริหาร และการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองกับการพัฒนาสังคมไทยในระดับสากล”
A7153