จุดเปลี่ยนนโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ: เงื่อนไขต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Friday, 11 November 2016 10:58
- Hits: 4754
จุดเปลี่ยนนโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ: เงื่อนไขต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน
การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 45 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของนโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อจีน โดยแนวนโยบายด้านการต่างประเทศของทรัมป์เป็นไปในทางกีดกันการค้าผ่านการขึ้นกำแพงภาษี ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีการพึ่งพากันอย่างสูง ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตั้งข้อสังเกตถึงเงื่อนไขความเป็นไปได้ของการดำเนินนโยบายและผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น โดยประเมินว่าการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบราวร้อยละ 45-50 ในกรณีเลวร้ายที่สุดจากการขึ้นกำแพงภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากจีน อีกทั้ง การกีดกันดังกล่าวอาจไม่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯเองด้วย เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือนสหรัฐฯ สูงขึ้นจากการนำเข้าสินค้าที่ไม่มีฐานการผลิตในสหรัฐฯ แล้ว ส่วนการเรียกร้องให้บรรษัทข้ามชาติของสหรัฐฯ โยกฐานการผลิตออกจากจีน เป็นข้อเรียกร้องที่น่าจะได้รับการตอบสนองน้อยมาก เนื่องจากบรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ไม่มีทางเลือกอื่นๆ ในการตั้งฐานการผลิตขนาดใหญ่ทดแทนจีน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การใช้นโยบายแบบสุดโต่งต่อจีนของสหรัฐฯ รวมไปถึงการคาดหวังถึงการตอบโต้อย่างรุนแรงจากฝั่งของจีนเอง ล้วนแล้วแต่เป็นผลลัพธ์ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย ดังนั้น จึงคาดว่าจะเกิดกระบวนการต่อรองเชิงนโยบายแบบทวิภาคีเพื่อผสานประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นหลัก โดยผลลัพธ์ของการต่อรองที่อาจเกิดขึ้นนั้น มีความเป็นไปได้อย่างมีนัยสำคัญที่สหรัฐฯ จะเรียกร้องให้จีนเปิดตลาดภายในประเทศให้แก่สหรัฐฯ มากขึ้น
Bobby 5345