เงินเฟ้อเดือนม.ค. 56 ชะลอลง: แต่ยังคงมีปัจจัยผลักดันทิศทางราคาในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Monday, 23 May 2016 13:17
- Hits: 1359
เงินเฟ้อเดือนม.ค. 56 ชะลอลง: แต่ยังคงมีปัจจัยผลักดันทิศทางราคาในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
ตัวเลขเงินเฟ้อของไทยล่าสุดในเดือนม.ค. 2556 ออกมาสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยและนักวิเคราะห์ในผลสำรวจของรอยเตอร์ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.39 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำลงจากร้อยละ 3.63 (YoY) ในเดือนธ.ค. 2555 ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ที่ไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน) ชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี (นับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2554) ที่ร้อยละ 1.59 (YoY) ในเดือนม.ค. 2556 จากร้อยละ 1.78 (YoY) ในเดือนธ.ค. 2555 ทั้งนี้ หากเทียบกับในเดือนก่อนหน้า ระดับราคาสินค้าผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.16 (MoM) ซึ่งสะท้อนภาพที่ปะปนกันของทิศทางราคาสินค้าในช่วงเดือนที่ถูกคาดหมายว่า จะมีแรงกดดันต่อต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ การปรับค่าไฟฟ้า Ft และราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ
หลายตัวแปรช่วยลดทอนแรงกดดันด้านต้นทุนที่มีต่อราคาสินค้าผู้บริโภค โดยแม้ว่าทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกในเดือนม.ค.2556 จะเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 3.0 จากระดับปิดสิ้นปี 2555 แต่เงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นในอัตราที่พอๆ กันในบางช่วงระหว่างเดือน ก็ทำให้ผลสุทธิที่มีต่อการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก (ทิศทางเงินบาทที่แข็งค่าก็ช่วยลดแรงกดดันที่มีต่อต้นทุนสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงวัตถุดิบ-เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตด้วยเช่นกัน)