ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับปี’55: เผชิญหลากปัจจัยลบ ... เสี่ยงหดตัวร้อยละ 10
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Thursday, 11 February 2016 14:43
- Hits: 2571
ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับปี’55: เผชิญหลากปัจจัยลบ ... เสี่ยงหดตัวร้อยละ 10
อัญมณีและเครื่องประดับ นับเป็นสินค้าส่งออกสูงเป็นอันดับ 4 ของยอดการส่งออกของไทย แต่ในช่วง 7เดือนแรกของปี 2555 การส่งออกหดตัวถึงร้อยละ 15.9 (YoY) ซึ่งหดตัวต่ำกว่าการส่งออกทั้งหมดของไทยที่หดตัวร้อยละ 0.4 (YoY) อันเป็นผลพวงจากแรงซื้อในฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักซบเซาลง โดยในช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่า ความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ จะส่งผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศลดต่ำลงต่อไปอีก โดยเฉพาะการจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีและเครื่องประดับ โดยสะท้อนจากยอดค้าปลีกเครื่องประดับที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน สอดคล้องกับอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ หนึ่งในปัจจัยสะท้อนแนวโน้มช่วงขาลงในครึ่งปีหลัง คือ ภายหลังจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้ประกาศผลการพิจารณาทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ประจำปี 2555 โดยตัดสิทธิ GSP กับสินค้าเครื่องประดับเงิน ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกภายใต้สิทธิ GSP หลังจากที่เคยได้รับการผ่อนผันมาแล้ว 5 ปี ทำให้ต้องเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 5 จากเดิมที่ได้รับการยกเว้นภาษี แสดงให้เห็นว่า ไทยคงต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งไม่เพียงแต่สินค้ากลุ่มเครื่องประดับเงินเท่านั้น ยังครอบคลุมไปถึงอัญมณีและเครื่องประดับประเภทอื่นๆด้วย โดยแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
ความอ่อนแอของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก ... ยังสะท้อนแนวโน้มในช่วงขาลงครึ่งหลังปี 2555 ปัจจัยที่กำลังส่งผลกระทบต่อการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2555 น่าจะเทน้ำหนักไปที่ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความอ่อนแอด้านเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดหลักอย่างกลุ่ม G-3 (สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น) ซึ่งยังคงต้องจับตาพัฒนาการอย่างใกล้ชิด