ปี 55 บริโภคและส่งออกเหล็กไทยไปอาเซียนเติบโต...สวนทางตลาดเหล็กโลก
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Wednesday, 10 February 2016 14:39
- Hits: 1096
ปี 55 บริโภคและส่งออกเหล็กไทยไปอาเซียนเติบโต...สวนทางตลาดเหล็กโลก
ภาวะอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศขณะนี้ มีการตื่นตัว ซึ่งแตกต่างจากภาพของอุตสาหกรรมเหล็กโลก เห็นได้ว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมเหล็กทั้งไทยและต่างชาติต่างได้ขยายฐานและเพิ่มกำลังการผลิตเหล็กในไทย สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความต้องการใช้เหล็กของไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเหล็กมีการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะในภาคก่อสร้างที่ได้รับแรงหนุนจากโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น โครงการรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างพร้อมกันหลายสาย เป็นต้น นอกจากนี้ความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศยังมาจากอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ฟื้นตัวจากน้ำท่วมได้เร็วเกินคาด อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล ที่ได้รับอานิสงส์จากความต้องการเครื่องจักรกลใหม่ และอุตสาหกรรมอาหารที่กำลังเติบโต เป็นต้น
อย่างไรก็ดี แม้ว่าความต้องการใช้เหล็กในประเทศจะมีปริมาณที่สูง ซึ่งน่าจะมีผลต่อราคาเหล็กให้ปรับตัวสูงขึ้นตาม แต่เมื่อพิจารณาราคาเหล็กในประเทศ พบว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 ที่ผ่านมา ราคาเหล็กปรับตัวขึ้นเพียงร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กโลกอยู่ในสภาวะ ชะลอตัว เป็นผลมาจากอุปสงค์เหล็กในตลาดโลกยังคงถดถอย อันเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มสหภาพยุโรปที่ยืดเยื้อ และได้ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ อีกทั้งยังส่งผลถึงความต้องการใช้เหล็กโลกที่ลดลง และผลจากการผลิตเหล็กของจีนที่ล้นตลาด จึงส่งผลให้ราคาเหล็กโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อผู้ผลิตเหล็กไทย ทำให้ลดต้นทุนการผลิต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มการบริโภคเหล็กในประเทศในช่วงที่เหลือของปี 2555 ดังนี้
การบริโภคเหล็กในประเทศไทย มีทั้งเหล็กที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมา มีการบริโภคเหล็กเฉลี่ยประมาณ 12 ล้านเมตริกตัน โดยที่ช่วงม.ค.-เม.ย. ปี 2555 พบว่า มีความต้องการใช้เหล็กในประเทศจำนวน 5.3 ล้านเมตริกตัน ซึ่งมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.6 โดยความต้องการบริโภคเหล็กในประเทศที่เพิ่มขึ้น มาจากปัจจัยสนับสนุนหลักที่สำคัญคือ การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของบางอุตสาหกรรม ภายหลังจากน้ำท่วม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมเครื่องจักร ประกอบกับไทยยังต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับความเติบโต