ปัญหาฟองสบู่: ความต่างของโครงสร้างเศรษฐกิจ และเครื่องชี้ที่ยังห่างจากวิกฤต ช่วยลดความเสี่ยงได้
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Wednesday, 10 February 2016 14:28
- Hits: 1111
ปัญหาฟองสบู่: ความต่างของโครงสร้างเศรษฐกิจ และเครื่องชี้ที่ยังห่างจากวิกฤต ช่วยลดความเสี่ยงได้
ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ควบคู่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวในเกณฑ์สูง ทำให้หลายฝ่ายต่างแสดงความวิตกมากขึ้นต่อสัญญาณเศรษฐกิจฟองสบู่ที่อาจปรากฏขึ้นในภาคส่วนต่างๆ รวมถึงภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เคยเป็นภาพสะท้อนความร้อนแรง จนนำมาสู่วิกฤต ‘ต้มยำกุ้ง’ ในช่วงปี 2540-2541 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เปรียบเทียบสถานการณ์ปัจจุบันกับวิกฤตปี 2540 และประเด็นสืบเนื่องที่น่าสนใจไว้ดังนี้
โครงสร้างเศรษฐกิจและการเงินของประเทศแตกต่างกัน...ทำให้ขอบเขตความเสี่ยงที่เผชิญแตกต่างกันตามไปด้วย เมื่อย้อนภาพกลับไปสู่ช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 นั้น จะพบภาพความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยใกล้ 10% ตามแรงหนุนจากการใช้จ่ายและลงทุนของภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งขับเคลื่อนจากการพึ่งพิงเงินกู้จำนวนมากจากต่างประเทศผ่านช่องทาง BIBFs ภายใต้ช่องโหว่สำคัญของระบบที่เปิดกว้างไว้ คือ อัตราดอกเบี้ยในประเทศที่อยู่สูงกว่าต่างประเทศ และระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่อนข้างคงที่ (แม้ว่าขณะนั้น ทางการไทยจะใช้ระบบตะกร้าเงินก็ตาม) ซึ่งทำให้การกู้ยืมเงินจากต่างประเทศแทบจะไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเลย
ผลที่ตามมาคือ ระดับหนี้ต่างประเทศของไทยถีบตัวสูงขึ้นมากจนเกินระดับแสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2539 ซึ่งสูงกว่าระดับทุนสำรองของไทยที่มีจำนวนเพียง 3.87 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ เท่านั้น ขณะที่ ฝั่งธนาคารพาณิชย์ ก็ได้รับผลพลอยได้ผ่านการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูงกว่า 20% ต่อปี ซึ่งแม้จะทำให้ประสบกับภาวะสภาพคล่องที่ตึงตัวขึ้น ด้วยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่สูงกว่า 110% แต่ก็ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีอัตราส่วนที่วัดความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่ง อีกทั้งดีกว่าในปัจจุบันที่สะท้อนภาพโครงสร้างเศรษฐกิจและการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งนี้ ความไม่สมดุลของฐานะหนี้ต่างประเทศและทุนสำรองฯ ของไทย และค่าเงินบาทที่ถูกมองว่าแข็งค่าเกินไป จนมีส่วนส่งผลให้รายได้จากการส่งออกเริ่มประสบปัญหานั้น กลายเป็นชนวนที่นำมาสู่การโจมตีค่าเงินบาท