การประชุม 2 พ.ค. 2555 … คาด กนง.คงดอกเบี้ยที่ 3.00% เพื่อดูแลความเสี่ยงเศรษฐกิจ ท่ามกลางความเสี่ยงเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Tuesday, 09 February 2016 13:31
- Hits: 941
การประชุม 2 พ.ค. 2555 … คาด กนง.คงดอกเบี้ยที่ 3.00% เพื่อดูแลความเสี่ยงเศรษฐกิจ ท่ามกลางความเสี่ยงเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงรวม 0.50% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2554 และครั้งแรกของปี 2555 ตามมาด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบล่าสุด เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในประเทศและความไม่แข็งแรงของเศรษฐกิจหลักในโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กนง.น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3.00% ต่อเนื่อง ในการประชุมรอบที่สามของปีในวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 นี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ในสภาวะที่ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ จากปัญหาความเปราะบางของเศรษฐกิจหลัก ขณะที่ผลของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐและความแข็งแรงของอุปสงค์ในประเทศยังคงต้องรอสัญญาณที่ชัดเจนมากกว่านี้
ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ : แม้กิจกรรมทางเศรษฐกิจแสดงสัญญาณการฟื้นตัวจากช่วงน้ำท่วม แต่ยังเร็วไปที่จะถอยจากนโยบายการเงินที่เอื้อต่อการสนับสนุนเศรษฐกิจ พัฒนาการเศรษฐกิจไทยตั้งแต่ต้นปี 2555 ที่ผ่านมา บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในวงกว้าง โดยการใช้จ่ายภายในประเทศได้ปรับตัวขึ้น นำโดยยอดขายรถยนต์ที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน ในขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก สอดคล้องกับการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการส่งออกให้ภาพการฟื้นตัวเช่นเดียวกัน แม้ยังไม่แข็งแรงมากพอ ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าด้วย ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แสดงสัญญาณการฟื้นตัว ทำให้คาดว่าจีดีพีในไตรมาสแรกของปีนี้ น่าจะกลับมาขยายตัวประมาณ 1% (Year-on-Year: YoY) จากที่หดตัวแรงในไตรมาส 4/2554
มองไปข้างหน้า ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคงทยอยปรากฏความชัดเจนมากขึ้น สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงระดับก่อนเกิดน้ำท่วม โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี จะมีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการฟื้นตัวกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม การบริโภค-การลงทุนของภาคเอกชน ตลอดจนการใช้จ่ายและมาตรการจากภาครัฐ