สถานการณ์เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง...ตัวแปรกำหนดทิศทางการส่งออก และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Monday, 08 February 2016 16:19
- Hits: 766
สถานการณ์เศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลัง...ตัวแปรกำหนดทิศทางการส่งออก และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย
ข้อมูลการส่งออกเดือนมิถุนายน 2555 ที่กลับมาหดตัวลงอีกครั้ง เป็นภาพที่แย่กว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ โดยคงต้องยอมรับว่า ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกในช่วงเดือนท้ายๆ ของไตรมาส 2/2555 เป็นปัจจัยที่กดดันให้การฟื้นตัวของการส่งออกไทยต้องล่าช้าออกไป ขณะที่ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธปท. เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2555 ก็สะท้อนว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นในการพิจารณาจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของธปท. ทั้งนี้ แม้ว่ากนง.จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.00 ตามความคาดหมายของตลาด แต่ผลการประชุมฯ ที่ไม่เป็นเอกฉันท์ (กรรมการ 2 ใน 7 ท่าน มีความเห็นให้ลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25) ก็สะท้อนว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย ทั้งที่มาจากความเปราะบางของเศรษฐกิจโลกและโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ น่าที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของไทยในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การลากยาวของวิกฤตหนี้ยุโรปและสัญญาณความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีนและสหรัฐฯ เข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2555 เป็นสถานการณ์ที่ท้าทายสำหรับภาคการส่งออกของไทย ที่แม้ว่าอาจสามารถทยอยฟื้นกลับมาขยายตัวได้ในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะผลของฐานเปรียบเทียบที่ค่อนข้างต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของทิศทางเศรษฐกิจโลกดังกล่าว ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่อาจมีผลต่อจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยสะดุดลงกว่าที่คาดหมายไว้ อย่างไรก็ดี ณ ขณะนี้ เครือธนาคารกสิกรไทยยังคาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะคงอยู่ที่ร้อยละ 3.00 ได้จนถึงสิ้นปี 2555
การส่งออกฟื้นตัวล่าช้า ขณะที่ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 3.00 ท่ามกลางความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก