เงินเฟ้อยังมีแรงส่งผ่านในช่วงไตรมาส 2/2555 จากค่าจ้างและพลังงาน...และน่าจะเร่งตัวขึ้นอีกในครึ่งปีหลัง
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Monday, 08 February 2016 15:53
- Hits: 799
เงินเฟ้อยังมีแรงส่งผ่านในช่วงไตรมาส 2/2555 จากค่าจ้างและพลังงาน...และน่าจะเร่งตัวขึ้นอีกในครึ่งปีหลัง
สถานการณ์ต้นทุนของผู้ประกอบการมีแนวโน้มที่จะได้รับแรงกดดันมากขึ้น จากทิศทางราคาพลังงานในประเทศ (ทั้งในส่วนของน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ) ราคาวัตถุดิบ ตลอดจนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศร้อยละ 39.5 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ อีกหนึ่งตัวแปรที่อาจมีผลเพิ่มแรงกดดันสะสมต่อต้นทุนของผู้ผลิต พร้อมๆ กับเพิ่มแรงหนุนต่อราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วงไตรมาส 2/2555 ที่ไม่ควรมองข้ามไป ก็คือ สภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งอาจทำให้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่าในภาวะปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพายุฤดูร้อน ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสัญญาณของภัยแล้งได้เริ่มเกิดขึ้นแล้วในหลายจังหวัดในเวลานี้
ทั้งนี้ แม้ว่าหลายปัจจัย อาทิ ค่าจ้างแรงงาน ราคาพลังงานและวัตถุดิบ อาจส่งผลหนุนต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าผู้บริโภคให้ขยับสูงขึ้นในลักษณะเดือนต่อเดือน (Month-on-Month: MoM) ในระหว่างไตรมาสที่ 2/2555 อย่างไรก็ดี สำหรับในระยะสั้นที่กระบวนการส่งผ่านแรงกดดันด้านต้นทุนมาที่ราคาสินค้าผู้บริโภค ยังคงทำได้อย่างจำกัด รวมถึงยังมีผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงในปีก่อนหน้านั้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสที่ 2/2555 อาจชะลอลงจากค่าเฉลี่ยร้อยละ 3.39 ในช่วงไตรมาส 1/2555 แต่ทิศทางที่ผ่อนคลายของเงินเฟ้อดังกล่าว อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ก่อนที่แรงกดดันเงินเฟ้อจะกลับมาเร่งตัวขึ้นใหม่อีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ซึ่งย่อมจะทำให้ความเสี่ยงในช่วงขาขึ้นของเงินเฟ้อมีน้ำหนักมากขึ้นต่อการกำหนดจุดยืนเชิงนโยบายการเงินของธปท.
เงินเฟ้อไตรมาส 2/2555...ซึมซับแรงส่งผ่านจากค่าจ้างและพลังงาน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 2/2555 ที่อาจชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) เป็นผลทางเทคนิคจากฐานที่สูงในปี 2554 แต่สำหรับผู้บริโภคแล้ว ภาระต่อค่าครองชีพจะยังรับรู้ได้ผ่านสภาวะที่ระดับราคาสินค้าหลายรายการทยอยปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในลักษณะเดือนต่อเดือน (MoM) ท่ามกลางแรงกดดันหลายด้านที่มีต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ