สินค้าอาหารไทยในตลาดจีน...ปี 2555 มีโอกาสแตะระดับ 2,100 ล้านดอลลาร์ฯหรือเพิ่มขึ้น 14.3 YoY
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Monday, 08 February 2016 10:04
- Hits: 1034
สินค้าอาหารไทยในตลาดจีน...ปี 2555 มีโอกาสแตะระดับ 2,100 ล้านดอลลาร์ฯหรือเพิ่มขึ้น 14.3 YoY
จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารที่น่าจับตามอง เนื่องจากโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอาหารในจีนที่มีขนาดใหญ่ แม้ว่าในปัจจุบันจีนจะเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารอันดับ 4 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และแคนาดา แต่มีแนวโน้มว่าจีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่สำหรับทำการเกษตรของจีนมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่จำนวนประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญของโลก น่าจะมีศักยภาพในการขยายการผลิตสินค้าอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของจีน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไทยได้เปรียบดุลการค้าสินค้าอาหารกับจีนมาโดยตลอด โดยในปี 2554 ไทยได้ดุลการค้าสินค้าอาหารกับจีนประมาณ 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.5 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารทั้งหมดของจีน แต่จีนมีการนำเข้าสินค้าอาหารจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราการขยายตัวในการส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปยังตลาดจีนมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์สูงมาตั้งแต่ปี 2552 โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากพืช(ไม่รวมมันเม็ดและมันเส้น)ที่จีนมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น จากปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวนในจีนทำให้จีนมีปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ กอปรกับอานิสงส์ของกรอบการค้าเสรีอาเซียนจีนที่ส่งผลให้จีนลดภาษีนำเข้าสินค้าเหลือร้อยละ 0 และรายได้เฉลี่ยของคนจีนเริ่มปรับตัวสูงขึ้นทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าอาหารนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นด้วย สำหรับในปี 2554 มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารจากไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1837.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.4 เมื่อเทียบกับปี 2553 และศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทยยังมีโอกาสในการขยายสินค้าอาหารของจีนอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าในปี 2555 มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารของจีนจากไทยมีโอกาสเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3
เมื่อพิจารณาแยกประเภทสินค้าอาหารที่จีนนำเข้าจากไทยพบว่าร้อยละ 74.1 เป็นผลิตภัณฑ์จากพืช(ไม่รวมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เนื่องจากจีนนำเข้าเพื่อผลิตเอทานอลเป็นหลัก) รองลงมาร้อยละ 14.9 เป็นอาหารปรุงแต่ง และร้อยละ 7.4 เป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากพืชที่จีนนำเข้าจากไทยแยกออกได้เป็น ผลไม้ร้อยละ 55.1 รองลงมาได้แก่ผลิตภัณฑ์จากธัญพืชร้อยละ 23.3 และธัญพืชร้อยละ 18.8 ที่เหลืออีกร้อยละ 2.8 เป็นเมล็ดพืชและผลไม้ ผัก กาแฟ ชา และเครื่องเทศ