การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ... ตัวเร่งไทยปรับตัวสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Monday, 08 February 2016 08:57
- Hits: 1311
การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท ... ตัวเร่งไทยปรับตัวสู่โครงสร้างเศรษฐกิจใหม่
ในวันที่ 1 เมษายน 2555 นี้ มาตรการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน จะเริ่มมีผลบังคับใช้ใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภูเก็ต ในขณะที่อีก 70 จังหวัดที่เหลือให้ปรับขึ้นในอัตราร้อยละ 39.5 ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดในปี 2554 จากนั้นให้ปรับขึ้นเป็น 300 บาทเท่ากันทุกจังหวัดในวันที่ 1 มกราคม 2556 โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทุกจังหวัดจะคงไว้ที่ 300 บาทไปอีก 2 ปี ยกเว้นกรณีภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีความผันผวนอย่างรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อการครองชีพของลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างสามารถพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2557 และปี 2558 ได้ตามความเหมาะสม
ผลของแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวย่อมมีทั้งผู้ที่ได้รับประโยชน์และผู้ได้รับผลกระทบ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนี้
แนวทางปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทจะมีผลให้ค่าจ้างแรงงานของไทยระหว่างปี 2555-2558 เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยการปรับขึ้นค่าจ้างอัตราปกติที่มักใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อในแต่ละปี (หรือประมาณร้อยละ 4) โดยใน 7 จังหวัดคือกรุงเทพฯ ปริมณฑล และภูเก็ตอัตราการปรับขึ้นจะกระโดดขึ้นมาสูงที่สุดในปีแรก และมีเสถียรภาพใน 3 ปีถัดไป ส่วน 70 จังหวัดที่เหลือนั้น อัตราการปรับขึ้นในปีแรกจะใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ และปริมณฑลคือร้อยละ 29.7