สถาบันการเงินปีมังกรทอง...กับโจทย์ของการให้บริการลูกค้าในต่างแดน
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Monday, 01 February 2016 10:50
- Hits: 2169
สถาบันการเงินปีมังกรทอง...กับโจทย์ของการให้บริการลูกค้าในต่างแดน
อันที่จริงแล้ว สถาบันการเงินการเงินไทยให้บริการลูกค้าไทยและลูกค้าต่างชาติในต่างประเทศอยู่แล้ว และเริ่มให้น้ำหนักกับการทำธุรกิจในมิติดังกล่าวมากขึ้นในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะภายในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีแรงหนุนจากธุรกรรมการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่กรอบการเปิดเสรีการค้าภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีผลบังคับใช้สำหรับสินค้าส่วนใหญ่ในปี 2553
สำหรับปี 2555 และในระยะหลังจากนี้ บทบาทดังกล่าว คาดว่าน่าจะมีความเด่นชัดขึ้นอีก ตามแรงหนุนจากหลายส่วนหลัก โดยส่วนแรก ได้แก่ การทำกำไรจากธุรกรรมในประเทศที่ท้าทายมากขึ้น ซึ่งทำให้การประคองส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin: NIM) ในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ประสบกับความยากลำบากขึ้น เช่นเดียวกับการผลักดันรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (Brokerage Fees) ในกรณีของธุรกิจทรัพย์ เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงและหนาแน่นของผู้เล่นในประเทศ ส่วนที่สอง การส่งเสริม/การปรับกฏเกณฑ์ของผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินไทย โดยเฉพาะการเดินหน้าตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่สอง และแผนพัฒนาตลาดทุน ซึ่งเข้าสู่จังหวะการเริ่มเปิดกว้างด้านการให้ใบอนุญาตรายใหม่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ อันย่อมกระทบต่อธุรกิจของผู้เล่นปัจจุบัน โดยเฉพาะการทวีความเข้มข้นในการแข่งขัน ขณะที่สำหรับธุรกิจโบรกเกอร์เอง ก็จะเข้าสู่ช่วงการเปิดเสรีค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบ อันล้วนแล้วแต่จะยิ่งกดดันความสามารถในการทำกำไรมากขึ้นอีก นอกจากนี้ ก็ยังมีแรงหนุนจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ซึ่งปัญหาหนี้สินของยุโรปและสหรัฐฯ คงกดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวในอีกอย่างน้อย 1-2 ปีข้างหน้า อันทำให้ชาติเอเชียที่มีเศรษฐกิจแข็งแรงกว่าโดยเปรียบเทียบ คงต้องหันมาพึ่งพิงกันเองมากขึ้น ส่วนสุดท้าย การเดินหน้ากรอบเจรจาเปิดเสรีภาคการเงินของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services: AFAS) เพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบัน ไทยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจารอบที่ 6 ตามกรอบดังกล่าว อันตอกย้ำทิศทางการให้บริการด้านการเงินที่เส้นแบ่งระหว่างพรมแดนจะจางลงอีกในระยะข้างหน้า