การฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัย และนโยบายเพิ่มรายได้ … หนุนเศรษฐกิจไทยฝ่าวิกฤตหนี้ยูโร ฟื้นตัวในปี 2555
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Monday, 25 January 2016 12:10
- Hits: 4008
การฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัย และนโยบายเพิ่มรายได้ … หนุนเศรษฐกิจไทยฝ่าวิกฤตหนี้ยูโร ฟื้นตัวในปี 2555
จากตัวเลขเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2554 ที่รายงานโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งออกมาต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาด โดยขยายตัวร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) [ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.6 และ Consensus Forecast คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 4.5] ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ทั้งปีลงมาที่ร้อยละ 1.5 (YoY) จากคาดการณ์เดิมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 โดยเป็นการปรับตามตัวเลขไตรมาสที่ 3/2554 ที่มีการรายงานออกมา ขณะที่ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2554 ในกรณีพื้นฐานไว้เช่นเดิม อยู่ที่หดตัวร้อยละ 3.3 อันเป็นผลมาจากกิจกรรมการผลิตและการดำเนินธุรกรรมในระบบเศรษฐกิจที่สูญหายไปจากเหตุอุทกภัย ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินความสูญเสียสุทธิต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 242,200 ล้านบาท
สำหรับมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2555 นั้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะทยอยฟื้นตัวในไตรมาสที่ 1/2555 ก่อนที่จะเติบโตได้ชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 2/2555 ทั้งนี้ แม้ว่าในปี 2555 เศรษฐกิจไทยน่าจะเผชิญปัจจัยลบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งความเสี่ยงหลักยังคงอยู่ที่วิกฤตหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่มยูโรโซน ที่กำลังลุกลามมายังประเทศขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจน่าที่จะยังมีปัจจัยหนุนสำคัญจากการบูรณะฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัย รวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจเชิงกระตุ้นของรัฐบาล
วิกฤตหนี้ยูโรโซนและการสูญเสียกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม กดดันส่งออกฟื้นช้า แนวโน้มการส่งออกในปี 2555 ยังคงอยู่ภายใต้ความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก ซึ่งความเสี่ยงหลักยังคงอยู่ในภูมิภาคยุโรป โดยความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIG (โปรตุเกส ไอร์แลนด์ กรีซ) ไม่เพียงแต่ขยายวงมายังประเทศขนาดใหญ่อย่างอิตาลีและสเปน (รวมเป็นกลุ่ม PIIGS) เท่านั้น แต่ปัญหาดังกล่าวยังนำมาสู่วิกฤตความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของยูโรโซน ทั้งในแง่ความเพียงพอของทรัพยากรที่จะต้องใช้ในการแก้ไขปัญหาหนี้ หากจะต้องให้ครอบคลุมประเทศใหญ่อย่างอิตาลีและสเปน รวมทั้งการสกัดกั้นความตื่นตระหนกในตลาดการเงินต่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้ที่ถือพันธบัตรของกลุ่มประเทศ PIIGS ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธนาคารของเยอรมนีและฝรั่งเศส ปัญหาที่ลุกลามดังกล่าวนำมาสู่ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจยูโรโซนอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2555 และอาจกลายเป็นชนวนสั่นคลอนเศรษฐกิจโลกได้ด้วยเช่นกัน