การงัดข้อของสองมหาอำนาจ “ จีน-สหรัฐฯ ” : เพื่อกดดันค่าเงินหยวน...ผลต่อไทยอยู่ในวงจำกัด
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Thursday, 21 January 2016 12:31
- Hits: 1887
การงัดข้อของสองมหาอำนาจ “ จีน-สหรัฐฯ ” : เพื่อกดดันค่าเงินหยวน...ผลต่อไทยอยู่ในวงจำกัด
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐฯเผชิญกับภาวะขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จากยอดขาดดุล 90,251 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2543 ขยับขึ้นมาเป็น 218,001 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 และเป็นยอดขาดดุล 291,105 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2553 จนเป็นเหตุให้สหรัฐฯต้องหันมาใช้มาตรการข้อกีดกันการค้าเพื่อสกัดกั้นสินค้านำเข้าจากจีนอย่างหนักนับตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็นเหตุให้ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2554 วุฒิสภาของสหรัฐฯได้มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 63 ต่อ 35 ในการอนุมัติร่างกฎหมายปฏิรูปการควบคุมดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (Currency Exchange Rate Oversight Reform Act ) ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่จะอนุญาตให้รัฐบาลสหรัฐฯสามารถดำเนินการทางด้านภาษีศุลกากรตอบโต้สินค้าที่นำเข้าจากประเทศที่อุดหนุนการส่งออกด้วยวิธีการลดค่าเงิน ซึ่งแม้จะไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป้าหมายก็น่าจะเป็นจีน เพราะด้วยท่าทีของสหรัฐฯที่มักจะส่งสัญญาณในทำนองว่าค่าเงินหยวนอ่อนกว่าความเป็นจริง และเป็นเหตุให้ราคาเปรียบเทียบของสินค้าจีนต่ำมาก จนสหรัฐฯต้องขาดดุลการค้าต่อจีน และสูญเสียการจ้างงานหลายตำแหน่ง โดยที่ผ่านมาจีนเองนั้นก็ยืนกรานที่จะปล่อยค่าเงินหยวนแข็งค่าแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อบรรเทาผลกระทบด้านการส่งออกซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ท่าทีของทั้งจีนและสหรัฐฯที่ต่างก็มีจุดยืนด้านนโยบายที่ต้องการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้าของตน และนำไปสู่มาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันอาจส่งผลต่อไทยบ้างพอสมควร เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย