ผลกระทบภาวะอุทกภัยปี 2554 ... ความเสียหายในภาคเกษตรกรรมมากกว่าปี 2553
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Thursday, 21 January 2016 11:16
- Hits: 2151
ผลกระทบภาวะอุทกภัยปี 2554 ... ความเสียหายในภาคเกษตรกรรมมากกว่าปี 2553
ภาวะอุทกภัยในช่วงปี 2554 มีแนวโน้มรุนแรง และขยายวงกว้างกว่าที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเดียวกันของปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่ผลกระทบภาวะอุทกภัยรุนแรงที่สุดตั้งแต่มีการรายงานความเสียหายจากภาวะอุทกภัย รวมทั้งในบางพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหลายระลอก จากอิทธิพลของทั้งพายุโซนร้อนนกเตน และอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำ ซึ่งทำให้เกิดภาวะฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ภาวะน้ำป่า ดินโคลนถล่ม และภาวะน้ำหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่ง สร้างความเสียหายต่อภาคเกษตรกรรม ทั้งในด้านพืชโดยเฉพาะข้าว ด้านปศุสัตว์ และด้านประมง โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด โดยปัจจุบันรายงานพื้นที่ที่คาดว่าได้รับความเสียหายนั้นมากกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 เนื่องจากในปี 2554 นั้นภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเร็วกว่าปกติประมาณ 1 เดือน กล่าวคือ ในปี 2554 เกิดปัญหาน้ำท่วมตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคม เทียบกับในปี 2553 ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายเดือนกันยายน อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ยังต้องติดตาม คือ อิทธิพลของพายุโซนร้อนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนเป็นประจำทุกปี ซึ่งอาจจะเพิ่มความเสียหายให้กับภาคเกษตรกรรมมากขึ้น โดยในบางพื้นที่อาจจะเกิดปัญหาอุทกภัยระลอกใหม่ ทำให้มูลค่าความเสียหายในภาคเกษตรกรรมมีแนวโน้มเพิ่มสูงกว่าในปี 2553 กล่าวคือ ภาวะน้ำท่วมในช่วงไตรมาส 3/54 เป็นช่วงเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังรอบ 2 และเริ่มปลูกข้าวนาปีในบางพื้นที่ ส่งผลให้ในบางพื้นที่ต้องเร่งเก็บเกี่ยวข้าวหนีน้ำ หรือต้องปลูกซ่อม/เลื่อนการปลูกข้าวนาปีออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม มูลค่าความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมในปี 2554 นี้อาจจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ถ้าในช่วงไตรมาส 4/54 ซึ่งเป็นช่วงต้นฤดูการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี ยังต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมเช่นเดียวกับในปี 2553
พื้นที่ที่ประสบภาวะอุทกภัยจะครอบคลุมพื้นที่ 56 จังหวัด โดยยังมีพื้นที่ที่ยังประสบปัญหาอยู่ 33 จังหวัด ( ณ วันที่ 15 กันยายน) และคาดว่ายังมีจังหวัดที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบในระยะต่อไป ทั้งจากอิทธิพลของลมมรสุม และอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำ เนื่องจากยังไม่พ้นช่วงฤดูฝน รวมทั้งภาวะน้ำล้นตลิ่ง ส่วนพื้นที่รับน้ำจากการระบายน้ำทางตอนเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ท้ายเขื่อนภูมิพลและสิริกิตติ์ โดยเฉพาะจังหวัดที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ รวมทั้งจังหวัดในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ คือ นครราชสีมา สระบุรี ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ซึ่งยังมีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำป่า และดินโคลนถล่ม