M&A: กลยุทธ์ต่อยอดธุรกิจ
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Thursday, 14 January 2016 10:45
- Hits: 3692
M&A: กลยุทธ์ต่อยอดธุรกิจ
ธุรกรรมการควบรวมและซื้อกิจการ หรือ M&A (Mergers and Acquisitions) ในประเทศไทย ในอดีตที่ผ่านมามักเกิดขึ้นในช่วงที่ธุรกิจเผชิญปัญหา ดังเช่นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 (วิกฤตต้มยำกุ้ง) ที่เห็นธุรกรรม
M&A เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งการควบรวมกิจการในกลุ่มธุรกิจสถาบันการเงิน การเข้าซื้อกิจการของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาถือหุ้นในธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น กิจการโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น
โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับโครงสร้างกิจการที่ประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจ
ปัจจุบัน ธุรกิจไทยมีความเคลื่อนไหวในธุรกรรม M&A กันมากขึ้น แต่ด้วยเหตุผลที่อาจแตกต่างไปจากช่วงหลังปี 2540 กล่าวคือ เป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับรับมือกับ
การเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมการแข่งขันในตลาดในอนาคต ทั้งในการรุกออกไปขยายฐานธุรกิจในต่างประเทศและรับมือกับการแข่งขันที่จะเข้ามาจากต่างชาติ ท่ามกลางกระแสการเปิดเสรีภายใต้ AEC ที่จะ
เข้มข้นมากยิ่งขึ้น รวมทั้งนโยบายจากภาครัฐที่เอื้อต่อการทำธุรกรรม ก็เป็นสิ่งที่สนับสนุนให้กระแสของการทำ M&A ร้อนแรงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีธุรกิจจะประสบความสำเร็จภายหลัง M&A หรือไม่นั้น
ก็ขึ้นอยู่กับวิธีเตรียมการก่อนปิดดีล และแผนกลยุทธ์ที่ธุรกิจจะใช้ปรับโครงสร้างขององค์กรหลังปิดดีลแล้ว ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญที่ธุรกิจพึงตระหนักไว้ก่อนที่จะลงมือทำธุรกรรม M&A ในทางปฏิบัติจริง
M&A: เติบโตอย่างต่อเนื่อง กระแสการควบรวมและการเข้าซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions) ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางในช่วง 4-5ปีที่ผ่านมา โดย Thomson Reuters ระบุว่ามูลค่าดีล M&A ทั่วโลก
ในปี 2553 อยู่ที่ระดับ 2.4 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งเพิ่มจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 22.9 และแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี โดยมีกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) เป็นกลุ่มที่มีการควบรวมกิจการมากที่สุดถึง
ร้อยละ 33.0 ส่วนภาคธุรกิจที่มีการควบรวมกิจการได้แก่ กลุ่มไฟฟ้าและพลังงานซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 20.6
สำหรับการทำ M&A ในประเทศไทยนั้นพบว่าในปี 2553 มีการทำคำเสนอซื้อหุ้นเพื่อครอบงำกิจการของระหว่างบริษัทไทย (Tender Offer) มีมูลค่าทั้งสิ้น 207,387.0 ล้านบาท จาก 68 บริษัทและในจำนวนนี้มีมูลค่า
รายการซื้อขายที่เกิดขึ้นจริง 182,916.4 ล้านบาท (ร้อยละ 88.2) ถือว่าเป็นมูลค่าที่สูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลในปี 2552 ซึ่งพบว่ามีการทำคำเสนอซื้อหุ้นเพื่อครอบงำกิจการ 66,898.3ล้านบาทจาก 94 บริษัท
และมีการซื้อขายจริงเกิดขึ้น 65,513.0 ล้านบาท (ร้อยละ 97.9) สะท้อนถึงมูลค่า M&A ระหว่างกิจการไทยที่เติบโตกว่า 3 เท่าภายในหนึ่งปีเลยทีเดียว