ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ท่าทีเฟด เงินหยวน และปัจจัยเฉพาะของไทย อาจมีผลต่อทิศทางเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Friday, 22 September 2023 11:47
- Hits: 2316
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ท่าทีเฟด เงินหยวน และปัจจัยเฉพาะของไทย อาจมีผลต่อทิศทางเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี
หากเทียบเฉพาะในเดือนก.ย. 2566 เงินบาทอ่อนค่าเร็วกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย โดยนอกจากผลของเงินดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นจากเรื่องดอกเบี้ยสหรัฐฯ แล้ว เงินบาทยังอ่อนค่าตามเงินหยวน ซึ่งมีความสัมพันธ์กันถึงกว่า 80% เมื่อมองไปในช่วงที่เหลือของปี 2566 ตลาดรอจับตาท่าทีเฟด เงินหยวน และปัจจัยเฉพาะของไทย ซึ่งอาจยังคงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงในระยะสั้น
แม้ภาพรวมการเคลื่อนไหวของเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปี 2566 จะอ่อนค่าในลักษณะเกาะกลุ่มอยู่กลางตารางเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค แต่หากเทียบเฉพาะการเคลื่อนไหวในเดือนก.ย. 2566 คงต้องยอมรับว่า อัตราการอ่อนค่าของเงินบาทค่อนข้างเร็วและมากกว่าค่าเงินหยวนและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย โดยเงินบาททยอยอ่อนค่าลงท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ภายหลังจากตัวเลขจีดีพีของไทยในไตรมาส 2/2566 ขยายตัวน้อยกว่าที่คาด ประกอบกับมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติมจากทิศทางเงินหยวนซึ่งมีปัจจัยลบจากสัญญาณความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีน ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งบ่งชี้ว่า วัฎจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังคงไม่สิ้นสุดลง เพราะอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายของเฟด
ต่อภาพออกไปในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คงต้องจับตา 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ท่าทีเฟดและเงินดอลลาร์ฯ ค่าเงินหยวนและเศรษฐกิจจีน และปัจจัยเฉพาะของไทย ที่อาจมีผลต่อการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 2566 สำหรับปัจจัยแรก คาดว่า เฟดยังน่าจะส่งสัญญาณในเชิงคุมเข้ม ซึ่งอาจหนุนค่าเงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ให้ปรับสูงขึ้น ส่วนปัจจัยที่สอง ประเมินว่า เงินหยวนของจีนยังอาจเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่า เนื่องจากแนวโน้มที่เปราะบางของเศรษฐกิจจีน ตลอดจนปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์อาจไม่สามารถแก้ไขให้คลี่คลายลงได้ภายในระยะเวลาอันสั้น โดยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์หรือ Correlation ระหว่างเงินบาทกับเงินหยวนอยู่ที่ 0.81 ดังนั้น การอ่อนค่าของเงินหยวนที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้า ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงตามในบางจังหวะด้วยเช่นกัน และปัจจัยสุดท้าย เป็นปัจจัยเฉพาะของไทย ซึ่งก็คือสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดและฐานะการคลัง ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยที่ตลาดรอติดตามอย่างใกล้ชิด โดยแนวโน้มการชะลอตัวของประเทศคู่ค้าและสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นอาจกดดันให้ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอ่อนแอลง ขณะที่มาตรการภาครัฐที่เตรียมจะดำเนินการในระยะข้างหน้า ก็เป็นอีกปัจจัยที่ตลาดรอความชัดเจน เพราะจะมีผลต่อการประเมินสถานะทางการคลัง แนวทางและขนาดการก่อหนี้ รวมไปถึงภาระทางการคลังทั้งในและนอกงบประมาณที่อาจเกิดขึ้นในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า
อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่ : https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Baht-EBR4017-FB-20-09-2023.aspx
A9749