การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกในรอบ 2 ปี ภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่แตกต่าง ..การส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการในปี 2565 ยังมีจำกัด
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Thursday, 01 September 2022 13:31
- Hits: 1458
การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกในรอบ 2 ปี ภายใต้สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่แตกต่าง ..การส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบการในปี 2565 ยังมีจำกัด (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
- คณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2565 โดยเตรียมนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.65 โดยได้แบ่งการปรับขึ้นเป็น 9 ช่วง ค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่ 328 บาท สูงสุด 354 บาท (เดิมอยู่ในช่วง 313-336 บาท) หรือเป็นการปรับขึ้นร้อยละ 3-7 ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในรอบ 2 ปี
- การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะมีผลในไตรมาส 4/2565 เป็นต้นไป ขณะที่ผู้ผลิตคงจะไม่สามารถส่งผ่านต้นทุนทั้งหมดไปยังผู้บริโภคได้ทันที ดังนั้น คาดว่าผลกระทบของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต่อเงินเฟ้อในปีนี้คาดว่าจะมีจำกัด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการเงินเฟ้อไทยในปีนี้อยู่ที่ 6.0% ซึ่งประมาณการนี้ได้รวมผลกระทบของการปรับค่าแรงขั้นต่ำแล้ว อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะเห็นการส่งผ่านต้นทุนค่าแรงจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภคมากขึ้นในปีหน้า โดยคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อไทยในปีหน้าจะอยู่ในกรอบ 2.5-3.0% ภายใต้สมมติฐานว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปีหน้าอยู่ที่ 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปตามมติและไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเพิ่มขึ้นอีกในปีหน้า ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำคาดว่าจะส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นราว 0.4-0.5% เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ภายใต้สมมติฐานที่กำหนดให้ปัจจัยอื่นคงที่
A9011