คาดเฟดยังคงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.0-0.25% ในการประชุมวันที่ 27-28 ก.ค. นี้…แม้ว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้น
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Monday, 26 July 2021 19:36
- Hits: 3430
คาดเฟดยังคงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.0-0.25% ในการประชุมวันที่ 27-28 ก.ค. นี้…แม้ว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อจะเพิ่มสูงขึ้น (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0-0.25% สำหรับการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 27-28 ก.ค. นี้ เนื่องจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ และจำนวนคนว่างงานยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าในช่วงก่อนโควิด-19 อย่างมาก ขณะที่ แม้ว่าเฟดเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น แต่คาดว่าเฟดจะยังคงให้น้ำหนักต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และน่าจะยังคงยืนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไปจนถึงอย่างน้อยสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญกับความเสี่ยงเชิงลบมากขึ้นจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ที่ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสหรัฐฯ กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง สหรัฐฯ กลับมาเผชิญจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่สูงขึ้นจากสายพันธุ์เดลต้าที่มีการแพร่กระจายได้ง่าย อีกทั้ง ยังคงมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์อื่นๆ เช่น สายพันธุ์แลมด้า และสายพันธุ์เอปซีลอน ซึ่งประสิทธิผลของวัคซีนที่มีอยู่ต่อสายพันธุ์เหล่านี้ยังคงไม่แน่ชัด อีกทั้ง อัตราการฉีดวัคซีนของสหรัฐฯ เริ่มชะลอลง ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสถานการณ์แพร่ระบาดมากขึ้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้นำมาซึ่งความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และส่งผลให้เฟดมีแนวโน้มที่จะยังคงนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังมีอยู่สูง
ท่ามกลางความเสี่ยงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้ง ภาคเศรษฐกิจจริงยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ คาดว่าเฟดคงมีท่าทีที่ระมัดระวังและอดทนในการพิจารณาถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเฟดน่าจะยังคงยืนการเริ่มทำ QE tapering ในต้นปีหน้า และเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2566 ตามที่ส่งสัญญาณไว้ในการประชุมนโยบายการเงินในเดือนมิ.ย ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี หากความเสี่ยงต่างๆ ลดลง และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งสัญญาณความร้อนแรงของเศรษฐกิจ เช่น ตลาดแรงงานเข้าใกล้ระดับการจ้างงานเต็มที่ (Full employment) ซึ่งมีอัตราการว่างงานอยู่ที่ราว 4.5% อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นเกินระดับ 2.0% อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากราคาสินทรัพย์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เฟดอาจถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด สำหรับผลกระทบต่อไทย หากเฟดส่งสัญญาณถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเร็วกว่าตลาดคาด จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยและต้นทุนการกู้ยืมนั้นปรับสูงขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้ากว่าเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ท่ามกลางความเสี่ยงจากสถานการณ์แพร่ระบาดที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นโจทย์ที่ท้าทายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะต้องคอยติดตามสถานการณ์และพิจารณาออกมาตรการที่เหมาะสมต่อไปในระยะข้างหน้า
A7766
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ