- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Thursday, 09 March 2017 23:02
- Hits: 10769
กระทรวงวิทย์-สวทช. ผนึก กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานพันธมิตร โชว์ผลงานวิจัยระบบราง 9-10 มี.ค. เดินหน้าหนุนวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมระบบรางไทย พร้อมชูประเด็นจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไข (ICP) รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ขายสู่ผู้ซื้อ
รัฐบาลเดินหน้า หนุนวิจัยพัฒนาและสร้างนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ หวังพัฒนาระบบรางในประเทศไทยอย่างยั่งยืน ปลื้มนักวิจัยไทยผลิตงานวิจัยใช้ได้จริงเป็นประโยชน์ต่อระบบรางไทย ด้านกระทรวงวิทย์ฯ-สวทช. ตอบโจทย์ส่งมอบงานวิจัย“การพัฒนาต้นแบบระบบตรวจสภาพทางรถไฟ”เฟสแรก ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย แล้ว ขณะที่กระทรวงคมนาคม ขยายระยะทางระบบรางเพิ่ม 1.7 เท่า ชี้ความต้องการในอนาคตสูงขึ้น โอกาสนี้พร้อมชูประเด็นจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไข (ICP) ความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรม จากผู้ขายต่างประเทศสู่ผู้ซื้อในประเทศไทย เป็นผลดีต่อการพัฒนาระบบรางในอนาคต ทั้งในแง่การแลกเปลี่ยนความรู้จากประเทศผู้เดินรถไฟฟ้า การพัฒนากำลังคนรองรับระบบราง และนำไปสู่โอกาสในการบำรุงรักษาการเดินรถด้วยตนเอง จนกระทั่งโอกาสในการผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าในประเทศเพื่อใช้เองได้ในอนาคต
8 หน่วยงานนำโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโครงการจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย และ Railway Technical Research Institute (RTRI) ประเทศญี่ปุ่น ร่วมกันเปิดการประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทยครั้งที่ 3 (RISE 3) หัวข้อ 'อนาคตอุตสาหกรรมระบบรางไทย : ก้าวกระโดดไปด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไขความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางไทย'หรือ'The Third Thai Rail Industry Symposium and Exhibition 2017 (The 3rd RISE 2017)'ระหว่างวันที่ 9 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2560 ณ แอร์พอร์ต เรลลิงก์ มักกะสัน กรุงเทพฯ โดยมี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นประธานร่วมเปิดงาน
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศไทย รัฐบาลกำลังวางอนาคตให้กับประเทศสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยเน้นเรื่องการวิจัย การพัฒนาต่อยอด และการสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นระบบ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายนำเข้าวัสดุและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งแนวคิดการพัฒนาระบบรางของประเทศ จะขยายบริบทจากการใช้ระบบรางเพื่อแก้ปัญหาจราจร ไปสู่บริบทใช้เพื่อเป็นกลไกพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ เช่น การวิจัยพัฒนา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
“การวางโครงสร้างพื้นฐานผ่านการคมนาคมขนส่งทางรางของรัฐบาล เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท แม้จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่ควรมีการเรียนรู้ไปพร้อมกันด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ทางเทคโนโลยีขั้นสูงที่ประเทศไทยยังขาดอยู่พอสมควร และถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์แก่ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจำเป็นอย่างมากที่ต้องทำให้เกิดขึ้นได้ในยุคนี้ รวมทั้งโครงการลงทุนด้านระบบรางทุกโครงการ ควรกำหนดให้ใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่คนไทยสามารถผลิตเองได้ เช่น การเดินรถ งานโยธา การซ่อมบำรุง เป็นต้น ซึ่งการผลักดันพัฒนาอุตสาหกรรมขนส่งระบบรางให้เกิดขึ้นในประเทศสามารถดำเนินได้หลายวิธี อาทิ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การกำหนดเงื่อนไขการจัดซื้อให้ชัดเจนใน TOR ของกระทรวงคมนาคม เพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ เช่น เงื่อนไขการประกอบตัวรถในประเทศไทย การกำหนดสัดส่วนชิ้นส่วนเพื่อการประกอบตัวรถและส่วนควบที่ต้องผลิตในประเทศไทย ดังนั้น การทำยุทธศาสตร์ความร่วมมือการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไขความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรม หรือ “Industrial Collaboration Programme (ICP)” จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าของการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีกิจกรรมการชดเชย หรือ Offset Program เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ขายสู่ผู้ซื้อ และการพัฒนากำลังคน เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีหลายประเทศนำ ICP ไปประยุกต์ใช้จนสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมประสบความสำเร็จ เช่น มาเลเซีย หรือประเทศในตะวันออกกลาง เป็นต้น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้มีความร่วมมือกับประเทศเจ้าของเทคโนโลยีในการพัฒนาบุคลากรของไทยให้มีขีดความสามารถในการเดินรถไฟฟ้าที่ทันสมัย ทั้งการเดินรถและซ่อมบำรุง เพื่อให้การพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางและอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นไปอย่างก้าวกระโดด มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะปรับปรุงรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้าง โดยควรเพิ่มเติมความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรม Industrial Collaboration Programme หรือ ICP ที่ได้รับเพิ่มเติมผ่านกิจกรรมการชดเชย หรือ Offset Program จากผู้ขายต่างประเทศมายังผู้ซื้อซึ่งคือประเทศไทย อันจะเป็นการเพิ่มมูลค่าของการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีประสิทธิภาพ
“การปรับปรุงรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างเป็นรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไข (ICP) ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างระบบขนส่งทางราง ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการ แต่กลับทำให้เกิดการพัฒนาระบบการขนส่งทางรางอย่างยั่งยืนในอนาคต เนื่องจากมีการดูดซับเทคโนโลยีที่สำคัญจากต่างประเทศ และการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการพัฒนาด้านระบบรางอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของชิ้นส่วนและอุปกรณ์ภายในประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และนำไปสู่โอกาสในการผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้า ในประเทศเพื่อใช้เองได้ในอนาคต”
ด้าน ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงรายละเอียดของการจัดงานครั้งนี้ ว่า “งานประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ จัดมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี 2558 ในหัวข้อ 'งานวิจัยระบบรางมุ่งเป้าเพื่อการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ'และครั้งที่ 2 ในปี 2559 ในหัวข้อ “ผลิตชิ้นส่วนระบบรางอย่างไรให้ได้มาตรฐาน” ซึ่งได้รับการตอบรับจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มาร่วมออกบูทนิทรรศการกว่า 50 บูท มีผู้เข้าชมงานมากกว่า 1,000 คน นับเป็นการจุดประกายให้เกิดความตระหนักในการสนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนด้านการคมนาคมขนส่งทางรางของภาครัฐ สำหรับปีนี้ เพื่อสนับสนุนนโยบายเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องทางระบบขนส่งทางราง และสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างแท้จริง คณะผู้จัดงานทั้ง 8 หน่วยงานได้ร่วมกันจัดในหัวข้อ “อนาคตอุตสาหกรรมระบบรางไทย: ก้าวกระโดดไปด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไขความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางไทย” โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 1,200 คน ซึ่งผลที่ได้รับจากการจัดงานจะจัดทำสรุปเป็นรายงานวิชาการเพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ที่นำมาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน และทำให้ประเทศมีความยั่งยืนในระยะยาวต่อไป”
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมส่งมอบงานวิจัยที่ดำเนินการแล้วเสร็จให้หน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยในปีนี้ เป็นการส่งมอบผลงานวิจัยโดยเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยสนับสนุนงบประมาณการวิจัย ที่พัฒนาโดย ดร.สืบสกุล พิภพมงคล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง 'การพัฒนาต้นแบบระบบตรวจสภาพทางรถไฟ (ระยะที่ 1)'ให้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย ตลอดจนนิทรรศการเกี่ยวกับความก้าวหน้าของการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบรางของอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางในต่างประเทศ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคชน กว่า 50 หน่วยงาน รวมทั้งการประชุมวิชาการในหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนางานวิจัยทางด้านระบบราง โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรและผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานกำหนดนโยบาย ผู้ประกอบการเดินรถ หน่วยงานเจ้าของโครงการที่จะกำหนดมาตรฐาน หน่วยจัดสรรทุนวิจัย ผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม นักวิชาการ นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะร่วมกัน