- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Sunday, 26 April 2015 15:30
- Hits: 4724
TMB คาด กนง.คงดอกเบี้ย รอประเมิน GDP ไตรมาสแรก-ความเสี่ยงในอนาคต
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มองว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะคงดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้(29 เม.ย.) เพื่อเก็บกระสุนเตรียมรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และรอประเมินจีดีพีไตรมาสแรก ที่จะถูกประกาศในวันที่ 18 พ.ค. เนื่องจากความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งล่าสุดของ กนง. โดยการลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ในการประชุมครั้งก่อน นับว่าได้รับการตอบรับจากธนาคารพาณิชย์ในระดับหนึ่ง หลังธนาคารพาณิชย์พากันปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ลงตามมติของ กนง. ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อดอกเบี้ยลดลงก็จะส่งผลให้มีแรงจูงใจในการขอกู้ยืมมากขึ้น ในขณะที่ความต้องการในการฝากเงินลดลง นำไปสู่การจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้นหรือก็คือการกระตุ้นเศรษฐกิจนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบันซึ่งต้นทุนทางการเงินไม่ใช่อุปสรรคสำคัญของการบริโภคและการลงทุน การลดดอกเบี้ยนโยบายจึงอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ หรือกล่าวในอีกนัยหนึ่งก็คือ การส่งผ่านประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยไปยังภาคเศรษฐกิจจริงจะเป็นไปอย่างจำกัด จากการคำนวณของศูนย์วิเคราะห์ฯ ท่ามกลางสถานการณ์ในปัจจุบัน การลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จะช่วยกระตุ้นอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ได้เพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้น
นอกจากประเด็นในเรื่องประสิทธิผลของนโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งมีอย่างจำกัดแล้ว อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่จะต้องพูดถึงคือความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นไปในทางขาลบ
ความเสี่ยงแรกของเศรษฐกิจไทย ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจอ่อนแอกว่าที่คาด โดยในปัจจุบันเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ในขณะที่เขตเศรษฐกิจสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ยุโรปและญี่ปุ่น ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเป็นที่พึ่งได้ เศรษฐกิจโลกขณะนี้จึงได้รับการขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งมาช่วยพยุงไว้
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มส่งสัญญาณเติบโตด้วยอัตราที่ชะลอลง และอาจไม่สามารถไปชดเชยการฟื้นตัวที่อ่อนแอในกลุ่มประเทศอื่นๆ ได้ โดยในระยะต่อไปหากเศรษฐกิจโลกชะลอมากกว่าที่มีการประเมินไว้ จะเป็นการซ้ำเติมภาคการส่งออกของไทยที่แย่ลงอยู่แล้วให้แย่ลงอีก ซึ่งการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้หดตัวลงไปแล้วกว่าร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ความเสี่ยงต่อมา ได้แก่ การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลที่อาจทำได้ช้ากว่าที่ตั้งเป้าไว้ หลังจากผ่านไปแล้ว 2 ไตรมาสในปีงบประมาณ 2558 การเบิกจ่ายงบลงทุนดำเนินการได้ล่าช้ากว่าเป้าหมายของรัฐบาลมาก ถึงแม้ภาครัฐจะออกมาส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องว่าจะเร่งการเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปี แต่ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่ารัฐบาลจะสามารถเร่งการเบิกจ่ายงบลงทุนให้ถึงเป้าหมายที่ร้อยละ 80 จากงบลงทุนทั้งหมด 4.5 แสนล้านบาทได้หรือไม่ จากการประเมินของศูนย์วิเคราะห์ฯ มีความเสี่ยงที่รัฐบาลจะสามารถเบิกงบลงทุนได้เพียงร้อยละ 60 เท่านั้น นั่นหมายความว่าเม็ดเงินที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอาจหายไปเกือบ 1 แสนล้านบาทจากที่ตั้งเป้าหมายไว้
ความเสี่ยงสุดท้าย ได้แก่ ความเชื่อมั่นในภาคเอกชนที่เริ่มทรงตัวและอาจมีสัญญาณแผ่วลงไปบ้าง โดยจากการศึกษาของศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่าความเชื่อมั่นเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยหนุนการบริโภคและการลงทุน ดังนั้น หากในระยะถัดไปความเชื่อมั่นกลับมีแนวโน้มถดถอยลงไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปีให้ออกมาอ่อนแอกว่าที่เคยประเมินไว้ได้
"ในปัจจุบันคงไม่มีใครสามารถการันตีได้เต็มร้อยว่าความเสี่ยงเหล่านี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ หากความเสี่ยงใดความเสี่ยงหนึ่งเกิดขึ้นจริง ก็อาจมีความจำเป็นที่ กนง.จะต้องออกโรงกระตุ้นเศรษฐกิจอีกรอบ อย่างไรก็ตาม กระสุนทางการเงินในปัจจุบันมีค่อนข้างจำกัด และความเสี่ยงด้านลบอาจไม่รุนแรงถึงขั้นวิกฤตเศรษฐกิจ"