- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Saturday, 25 June 2022 16:27
- Hits: 5757
PwC และ NUS เผยผลการศึกษารายงานความยั่งยืนของบริษัทในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
แนะธุรกิจเปลี่ยนความมุ่งมั่นให้กลายเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจน
• 84% ของบริษัทที่ทำการศึกษารายงานว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาด้านความยั่งยืน แต่น้อยกว่าครึ่ง มีการผนวกความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศและมาตรการที่เกี่ยวข้องเข้ากับการดำเนินงาน
• การเปิดเผยข้อมูลการฝึกอบรมด้านความยั่งยืนและความเชื่อมโยงของผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance: ESG) กับค่าตอบแทนของผู้บริหาร ยังเป็นสิ่งที่ต้องปรับปรุง
• บริษัทมีโอกาสในการสร้างความไว้วางใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและนักลงทุนมากขึ้น ผ่านการมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นและการได้รับการตรวจสอบจากภายนอก
ผลการศึกษาร่วมล่าสุดของ PwC ประเทศสิงคโปร์ และศูนย์กลางการกำกับดูแลและความยั่งยืน (The Centre for Governance and Sustainability: CGS) ร่วมกับ คณะวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore: NUS) ระบุว่า ในขณะที่ข้อกำหนดของการรายงานความยั่งยืนได้ขยายวงกว้างไปทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การเปลี่ยนความมุ่งมั่นด้านการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศให้กลายเป็นแนวปฏิบัติที่ชัดเจน จะเป็นความท้าทายที่รออยู่ภายหน้าขององค์กร
ทั้งนี้ ผลการศึกษา Sustainability counts: Understanding sustainability reporting requirements across Asia Pacific and insights on the journey to date ทำการวิเคราะห์รายงานความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน 50 อันดับแรก ตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market capitalisation) ที่ถูกเผยแพร่ในปี 2563 และ 2564 ครอบคลุม 13 ประเทศและอาณาเขตทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ในขณะที่บริษัทส่วนใหญ่รับทราบถึงความร้ายแรงของปัญหาสภาพภูมิอากาศ หลายบริษัทยังคงไม่มีการเปิดเผยว่า พวกเขาได้มีการผนวกมาตรการด้านสภาพภูมิอากาศเข้ากับการดำเนินธุรกิจและกลยุทธ์อย่างไร โดยจากการวิเคราะห์บริษัทจำนวน 650 แห่ง พบว่า 84% ของบริษัทรายงานว่า ได้ระบุการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาด้านความยั่งยืน อย่างไรก็ตาม น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 41% มีการรายงานเป้าหมายความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ และ/หรือเปิดเผยผลการดำเนินงาน เปรียบเทียบกับเป้าหมายเหล่านี้ นอกจากนี้ มีเพียง 36% เท่านั้นที่รายงานว่า บริษัทของพวกเขามีการผนวกความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศเข้ากับการจัดการความเสี่ยงโดยรวมอย่างไร
นางสาว ฟาง อู๋หลิน หัวหน้าสายงานความยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ PwC ประเทศสิงคโปร์ และหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของสิงคโปร์ กล่าวว่า “ไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ธุรกิจตระหนักถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งบริษัทหลายแห่งยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเดินทางบนเส้นทาง ESG และอาจยังคงต้องใช้เวลาในการตามให้ทันความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่กำลังเติบโตขึ้น ไม่เพียงแต่เรียกร้องให้มีการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการผนวกปัจจัยสภาพภูมิอากาศเป็นกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจ ด้วยกฎระเบียบและข้อกำหนดของการรายงานความยั่งยืนใหม่ที่คาดว่า จะถูกเปิดตัวในประเทศต่างๆ ทั่วเอเชียแปซิฟิก อีกไม่นานเราน่าจะเห็นความคืบหน้าของบริษัทต่างๆ ที่แสดงออกถึงการเปลี่ยนแปลงด้านความยั่งยืนจากภายในสู่ภายนอก
ทั้งนี้ ผลจากการศึกษาบางส่วน ถือเป็นที่น่าพอใจ โดยมากกว่า 80% ของบริษัท ได้มีการเปิดเผยเป้าหมายความยั่งยืน ในขณะที่ 75% เปิดเผยโครงสร้างการกำกับดูแล ESG และ 67% เปิดเผยถึงความรับผิดชอบของคณะกรรมการเพื่อความยั่งยืน อย่างไรก็ดี ยังมีการกำกับดูแลและความรับผิดชอบด้าน ESG ในระดับผู้นำองค์กรในบางส่วนที่ต้องได้รับการปรับปรุง โดยผลการศึกษาพบว่า มีเพียง 24% ของบริษัท ที่เปิดเผยข้อมูลการฝึกอบรมด้าน ESG สำหรับคณะกรรมการ และมีเพียง 16% ที่เปิดเผยการเชื่อมโยงผลการดำเนินงานด้าน ESG กับค่าตอบแทนของผู้บริหารระดับสูง
ศาสตราจารย์ ลอว์เรนซ์ โลห์ ผู้อำนวยการ CGS กล่าวว่า “การศึกษาและการฝึกอบรมด้านความยั่งยืน เปรียบเสมือนการเดินทาง ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า บริษัทจดทะเบียนชั้นนำทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทำการเปิดเผยถึงเป้าหมายและความรับผิดชอบด้านความยั่งยืนได้เป็นอย่างดี เป้าหมายต่อไป คือ เพิ่มการฝึกอบรมด้านความยั่งยืนให้แก่ผู้นำและพนักงาน พร้อมเปลี่ยนคำปฏิญาณให้กลายเป็นการปฏิบัติ เมื่อบริษัทต่างๆ สามารถแสดงสิ่งนี้ต่อลูกค้าและนักลงทุนได้ ก็จะมีผู้ร่วมเดินทางบนเส้นทางสีเขียวมากขึ้น”
ด้วยความต้องการของตลาดต่อข้อมูลที่เกี่ยวกับผลกระทบด้านความยั่งยืน และการสร้างมูลค่าจากบริษัทที่เพิ่มขึ้น ผลการศึกษานี้ ยังได้ชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่องค์กรจะสามารถสร้างความไว้วางใจได้มากขึ้น ด้วยการมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ถือหุ้น แต่แม้ว่า 81% ขององค์กร จะได้เปิดเผยถึงช่องทางการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของตน กลับมีเพียง 46% เท่านั้น ที่ได้มีการพูดคุยถึงข้อกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในส่วนของการจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยเสริมความเชื่อมั่นของนักลงทุน ผลการศึกษาพบว่า ในปัจุบันมีบริษัทเพียง 37% เท่านั้น ที่ได้รับความเชื่อมั่นต่อรายการเปิดเผยข้อมูลในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมภิบาล (ESG disclosure) จากองค์กรอิสระ
นางสาว ไอวี่ กัว หัวหน้าสายงาน ESG PwC ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “ความโปร่งใส และความรับผิดชอบ ถือเป็นจุดเด่นของการตัดสินใจลงทุนมาช้านาน โดยในโลกวันนี้ที่ระบบทุนนิยมที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยิ่งแพร่หลายมากขึ้น นักลงทุนทั้งแสดงความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากบทบาทของตนในการสร้างแรงจูงใจให้บริษัทต่างๆ ต้องดำเนินการด้าน ESG และจะต้องเป็นมากกว่าการนำเสนอเรื่องเล่าเชิงกลยุทธ์ โดยสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ คุณภาพ ความถูกต้อง และความครบถ้วนของรายงานความยั่งยืน ขณะที่จะต้องมีความโปร่งใสอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับรายงานทางการเงินด้วย ซึ่งหากบริษัทใดทำได้ ก็จะสามารถดึงดูดการลงทุนที่ใช่จากนักลงทุนที่ต้องการการสนับสนุนบนเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงด้าน ESG”
ด้าน นาย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า “ปัจจุบันบริษัทไทยมีการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนมากขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นวิกฤตการณ์ที่สำคัญของโลก เราจะเห็นว่า การที่ภาครัฐ และภาคธุรกิจ รวมถึงผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ หันมาให้ความสำคัญกับกระแสรักษ์โลก โดยไม่สนับสนุนสินค้า หรือบริการที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะยิ่งทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเพิกเฉยต่อการแก้ไขปัญหานี้ได้”
“สำหรับแนวทางในการจัดทำรายงานความยั่งยืน ให้มีความน่าเชื่อถือและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ฝ่ายบริหารจะต้องทบทวนนโยบายด้าน ESG ของตนว่า มีการผนวกมาตรการด้านสภาพภูมิอากาศเข้ากับกลยุทธ์ขององค์กรหรือไม่ มีการกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนอย่างไร และมีแนวทางปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ตรงตามเป้าหมายนั้นๆ หรือไม่ ซึ่งนอกจากจะต้องมีจัดตั้งคณะทำงานในด้านนี้แล้ว ยังจะต้องมีการฝึกอบรมด้านความยั่งยืนให้แก่ผู้บริหารและพนักงาน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง”
นาย ชาญชัย กล่าวด้วยว่า องค์กรควรมีการกำหนดวงเงินลงทุนด้าน ESG และมีการวัดผลการดำเนินงานที่เหมาะสม โดยอิงตามกรอบการดำเนินงานและตัวชี้วัด (Framework) ที่ได้รับการยอมรับ ก่อนนำข้อมูลทั้งหมดมาจัดทำรายงานความยั่งยืน และท้ายที่สุด ควรมีหน่วยงานที่น่าเชื่อถือตรวจสอบรายงานดังกล่าว (ESG Assurance) เพื่อสร้างความความเชื่อมั่นให้กับรายการที่บริษัทได้ทำการเปิดเผย
A6793