- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Wednesday, 13 January 2021 16:54
- Hits: 16402
เศรษฐกิจไทยปีฉลู กับการต่อสู้กับโควิดระลอกใหม่
• KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP สำหรับปี 2021 ลงจาก 3.5% เป็น 2.0% จากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในประเทศที่นำไปสู่การปิดเมืองบางส่วน
• ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2021 ปรับลดลงจาก 6.4 เป็น 2 ล้านคน ในกรณีเลวร้ายคาดว่าจะไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยทั้งปี
• ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามคือ (1) การลุกลามของการติดเชื้อภายในประเทศ (2) ข้อจำกัดด้านสาธารณสุขในการรองรับผู้ป่วย และ (3) ประสิทธิผลและความครอบคลุมในการแจกจ่ายวัคซีน
ประเทศไทยเปิดรับปีใหม่ 2021 ด้วยการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เริ่มมาจากการตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่เกี่ยวโยงกับตลาดกลางกุ้ง มหาชัย จ.สมุทรสาคร ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ประเทศไทยไม่พบการติดเชื้อในประเทศมายาวนานตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ที่น่ากังวล คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดในรอบนี้มีแนวโน้มจะกระจายไปเป็นวงกว้างและจะควบคุมได้ยาก จากการแพร่ระบาดในสถานที่สุ่มเสี่ยง ทั้งตลาด สถานบันเทิง สถานที่เล่นการพนัน ที่ยากต่อการควบคุมและการติดตามผู้สัมผัสเชื้อ จากมาตรการของภาครัฐที่เข้มข้นน้อยกว่าครั้งก่อน และจากพฤติกรรมของผู้คนเองที่มีการเดินทางและพบปะกันมากขึ้นในช่วงเทศกาล จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจึงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าการระบาดระลอกแรก (รูปที่ 1) และได้กระจายไปราว 60 จังหวัดทั่วประเทศ
รูปที่ 1 จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศ รายวัน
ที่มา: ศบค. KKP Research
การระบาดระลอกใหม่นี้แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและธุรกิจต่างๆ ที่เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายปีที่ผ่านมาให้กลับทรุดลง หรือยืดระยะเวลาการฟื้นตัวออกไปจากที่เคยคาดการณ์ไว้ พร้อมกับยังมีความไม่แน่นอนและปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ยังคงต้องติดตามในการประเมินผลกระทบจากการระบาดของโควิดรอบนี้
KKP Research ปรับลดการคาดการณ์ GDP เหลือ 2.0%
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP สำหรับปี 2021 ลงอีกครั้ง จากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ในประเทศ โดยมองว่าการระบาดรอบนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญผ่าน 2 ช่องทางหลัก คือ (1) การประกาศปิดเมืองจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศชะลอลงกว่าที่เคยประเมินไว้ กระทบต่อการลงทุน การจ้างงาน รายได้และการบริโภค (2) นักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะกลับมาได้ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ มีแนวโน้มล่าช้าออกไปกว่าเดิม
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ปรับลดการคาดการณ์ GDP สำหรับปี 2021 ลงจาก 3.5% เหลือ 2.0% (รูปที่ 2) อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าในกรณีเลวร้ายที่การแพร่ระบาดรุนแรงจนทำให้มาตรการปิดเมืองต้องมีความเข้มข้นขึ้น ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตลอดทั้งปี จะส่งผลให้ GDP อาจหดตัวได้ถึง -1.2%
รูปที่ 2 การคาดการณ์ GDP ปี 2021 ในกรณีฐานและกรณีเลวร้าย
ที่มา: KKP Research
โควิด-19 ระลอกใหม่กระทบเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้ว
การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 มาตรการปิดเมืองบางส่วน การงดทำกิจกรรมนอกบ้านจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาด และการฉีดวัคซีนในประเทศที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ในวงกว้างในช่วงครึ่งแรกของปี จะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญใน 2 ด้านคือ
1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจะสะดุดลงอีกครั้ง จากการระบาดและมาตรการที่มีแนวโน้มลากยาวกว่ารอบก่อน แม้ว่ามาตรการควบคุมการระบาดในครั้งนี้จะเน้นการควบคุมตามความเสี่ยงของพื้นที่และธุรกิจ แต่สถานการณ์การระบาดที่มีแนวโน้มรุนแรงควบคุมได้ยากกว่ารอบที่แล้ว อาจทำให้รัฐต้องใช้มาตรการควบคุมการระบาดในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าครั้งที่ผ่านมา หรือสุดท้ายอาจต้องกลับมาใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ ยิ่งไปกว่านั้น ในครั้งนี้จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดสูงเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับสูง โดยขนาดเศรษฐกิจโดยรวมของพื้นที่เสี่ยงสูง 28 จังหวัดคิดเป็นสัดส่วนกว่า 70% ของ GDP ทั้งประเทศ (รูปที่ 3) จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คาดว่าแม้การปิดเมืองจะเข้มงวดน้อยลงแต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมจะยังคงรุนแรงใกล้เคียงกับรอบที่ผ่านมา
รูปที่ 3 สัดส่วนของ GDP รายจังหวัด
พื้นที่ควบคุมสูงสุดมีขนาดเศรษฐกิจรวมกว่า 70% ของเศรษฐกิจทั้งประเทศ
หมายเหตุ: สีแดงเข้ม = พื้นที่ควบคุมสูงสุด, สีส้ม = พื้นที่ควบคุม, สีเหลือง = พื้นที่เฝ้าระวัง
ที่มา: NESDC, KKP Research
เศรษฐกิจในไตรมาส 1 จะหดตัวรุนแรง ก่อนจะค่อยๆ ฟื้นตัวในไตรมาสถัดไป (รูปที่ 4) คาดการณ์ว่า รัฐจะสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกของปีได้รับผลกระทบในลักษณะเดียวกันกับในไตรมาส 2 ปี 2020 โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวลงรุนแรงและจะฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ ส่งผลให้ GDP ในไตรมาสแรกมีโอกาสโตติดลบถึง 6.1% และหากการระบาดจบลงตามคาด เศรษฐกิจจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ในช่วงไตรมาส 2
รูปที่ 4 เศรษฐกิจไทยจะหดตัวลงอีกครั้งในช่วงไตรมาส 1 ปี 2021
ก่อนจะกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ หากการระบาดจบลง
ที่มา: NESDC, KKP Research
2) นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจกลับมาได้ช้ากว่าที่คาด ซึ่งเป็นผลจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ (1) การระบาดระลอกใหม่ในประเทศทำให้คนไทยกลับมามีความกังวลในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และในทางกลับกันนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการระบาดอยู่ในระดับต่ำแล้ว เช่น จีน ก็อาจลังเลที่จะเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย และ (2) แม้ไทยจะมีแผนสำหรับการผลิตและใช้วัคซีนในประเทศ แต่ต้องรอถึงช่วงครึ่งหลังของปีกว่าจะมีการเริ่มฉีดได้ในวงกว้างขึ้น ซึ่งอาจไม่ทันสำหรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวในไตรมาส 3 KKP Research จึงปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวสำหรับปี 2021 ลงจากที่เคยคาดว่าจะกลับมาได้ 6.4 ล้านคนในไตรมาส 3 และ 4 เหลือเพียง 2 ล้านคนในไตรมาส 4 เท่านั้น (รูปที่ 5)
รูปที่ 5 KKP Research คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านคนในปี 2021 จากเคยคาดที่ 6.4 ล้านคน
ในกรณีเลวร้ายอาจไม่มีท่องเที่ยวเลยตลอดทั้งปี
ที่มา: TAT, KKP Research
ส่งออกช่วยพยุงเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเสี่ยง
การส่งออกจะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจในปีนี้โดยจะสามารถฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ตามเศรษฐกิจโลก นอกจากความคืบหน้าเรื่องวัคซีนแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่อาจช่วยบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ เศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะยังหนุนให้การส่งออกไทยสามารถขยายตัวได้ในปีนี้
ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าการส่งออกไทยยังฟื้นตัวช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค (รูปที่ 6) เนื่องจากการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าเทคโนโลยี ในขณะที่สินค้าส่งออกไทยมีสัดส่วนของสินค้ากลุ่มนี้น้อย นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าที่เกิดต่อเนื่องมาจากปีก่อน และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จะยังคงเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้การส่งออกไทยในปี 2021 ขยายตัวได้น้อยลงกว่าที่เคยประเมิน ในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 ที่อาจทำให้เกิดปัญหาในภาคการผลิตในประเทศที่สามารถกลับมากระทบการส่งออกเพิ่มเติมได้เช่นกัน
รูปที่ 6 การส่งออกไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าหลายประเทศในภูมิภาค
ที่มา: CEIC, KKP Research
ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูงโดยขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ โดยหากสถานการณ์การระบาดยืดเยื้อและรุนแรง คาดว่าในกรณีเลวร้ายอาจต้องมีมาตรการที่จำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจยาวนานถึง 2 ไตรมาสเพื่อควบคุมการระบาดของโควิดที่รุนแรงขึ้น ภาคการผลิตและการส่งออกอาจประสบปัญหาจากความจำเป็นต้องปิดโรงงานชั่วคราวและการขนส่งสินค้า อีกทั้งหากวัคซีนไม่ได้ผลตามคาด อาจทำให้ไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยในปีนี้ ในกรณีเลวร้าย KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยอาจหดตัวต่อเนื่องที่ -1.2% ในปี 2021
ผลกระทบจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มธุรกิจ
การระบาดระลอกใหม่และมาตรการปิดเมืองจะทำให้ธุรกิจที่เริ่มฟื้นตัวกลับไปหดตัวอีกครั้ง ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ที่ผ่านมา เริ่มปรากฏสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจในแทบทุกกลุ่ม ซึ่งเกิดจากการฟื้นตัวของใช้จ่ายในประเทศหลังการเปิดเมืองและการส่งออก อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวจะยังหดตัวรุนแรงอยู่แต่ก็สามารถฟื้นตัวได้บ้างตามอุปสงค์ในประเทศ (รูปที่ 7) การระบาดระลอกใหม่และการปิดเมืองที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลงจะส่งผลต่อธุรกิจในลักษณะใกล้เคียงกับช่วงไตรมาส 2 ปีก่อน คือ ธุรกิจที่จำเป็นต้องมีการรวมกลุ่มของคน เช่น การเดินทาง การท่องเที่ยวในประเทศ ร้านอาหาร การค้าปลีก จะได้รับกระทบรุนแรง ในขณะที่ภาคการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าอาจเป็นกลุ่มธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้
รูปที่ 7 เปรียบเทียบอัตราการเติบโตของรายได้ในแต่ละกลุ่มธุรกิจช่วงไตรมาส 2 และ 3 2020
ถึงแม้ในไตรมาส 3 2020 จะมีการคลายล็อคดาวน์ แต่หลายธุรกิจยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องจาก COVID-19
และภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา
ที่มา: NESDC, KKP Research
สัญญาณการฟื้นตัวของการจ้างงานในช่วงที่ผ่านมายังกระจุกตัวอยู่ในบางกลุ่มธุรกิจ กลุ่มธุรกิจที่เริ่มกลับมาจ้างงานอีกครั้งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก และฟื้นตัวได้ตามการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ เช่น อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค ในขณะที่การจ้างงานในภาคบริการที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีนัก (รูปที่ 8) นอกจากนี้ ถึงแม้ตัวเลขทางการของการจ้างงานจะไม่ได้หดตัวรุนแรงมากนัก และอัตราการว่างงานในเดือนล่าสุดคือเดือนพฤศจิกายนยังอยู่ที่ระดับต่ำเพียง 2.0% แต่มีแรงงานจำนวนมากที่แม้จะมีงานทำอยู่ แต่ถูกลดจำนวนชั่วโมงการทำงานลง โดยผู้ที่เสมือนว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง (รูปที่ 9) และในจำนวนนี้ผู้ที่ทำงานต่ำกว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (อยู่ที่ 4.2 แสนคนในเดือน พ.ย. 2020 เพิ่มขึ้น 23% จากเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า) อีกทั้งแรงงานทั้งในและนอกระบบที่ประกอบอาชีพค้าขายหรืออาชีพอิสระที่ยังคงทำงาน แต่รายรับน้อยลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา นั่นหมายถึงรายได้ที่หายไปของภาคแรงงานจะรุนแรงกว่าตัวเลขการเลิกจ้างมาก ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงกำลังซื้อและความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน
รูปที่ 8 การจ้างงานในกลุ่มบริการเริ่มมีสัญญานฟื้นตัวขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา
แต่เสี่ยงสะดุดลงอีกครั้งจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกสองในช่วงต้นปีนี้
ที่มา: NSO, KKP Research
รูปที่ 9 จำนวนผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงานในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมายังคงอยู่ในระดับสูงถึง 2.2 ล้านคน
ถึงแม้จะลดลงมาจากช่วงล็อคดาวน์ครั้งที่แล้ว
ที่มา: NSO, KKP Research
การระบาดระลอกสองและการปิดเมืองจะซ้ำเติมให้การจ้างงานในภาพรวมกลับมาแย่ลงและอาจรุนแรงกว่ารอบก่อน จึงประเมินว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงที่ธุรกิจหลายแห่งอาจจำเป็นที่ต้องขยับจากการลดชั่วโมงการทำงานของพนักงานไปเป็นการเลิกจ้างถาวร เนื่องจากแบกรับต้นทุนต่อไปไม่ไหวหลังจากที่อั้นมาตลอดปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจที่น่ากังวลที่สุดคือ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและการบริการที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในช่วงที่ผ่านมา กลับถูกซ้ำเติมอีกครั้งจากการระบาดรอบใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่สายป่านไม่ยาวพอ อาจนำไปสู่การเลิกจ้างงานในวงกว้างได้
จับตา 3 ปัจจัยเสี่ยง GDP 2021 อาจโตติดลบ
ความรุนแรงของผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าขึ้นอยู่กับสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อ ระยะเวลาที่ใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาด และความเข้มข้นของมาตรการภาครัฐที่อาจส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกันและขึ้นอยู่กับความเสี่ยงสำคัญ 3 ด้านคือ
1) การลุกลามของการติดเชื้อในประเทศ ความพิเศษของเชื้อไวรัสโควิด ที่ทำให้ค่อนข้างยากที่จะควบคุมการแพร่ระบาด คือ การที่ผู้ติดเชื้อมีทั้งที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการ (asymptomatic) โดยจากการรายงานของ CDC ซึ่งอ้างอิงสถิติล่าสุดในสหรัฐอเมริกาประเมินว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการมีถึง 40% และอาจสูงถึง 80% หากนับรวมผู้ที่มีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งทำให้ไม่มีการตรวจพบ แต่สามารถแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้โดยที่ไม่รู้ตัวทั้งผู้แพร่และผู้รับเชื้อ การที่ประเทศไทยไม่มีการตรวจเชื้อแบบเชิงรุกในวงกว้าง จึงมีความเป็นไปได้ที่จำนวนผู้ติดเชื้อแฝงที่สามารถแพร่เชื้อได้ (silent carriers) ในประเทศไทยจะสูงกว่าตัวเลขที่มีการรายงานอยู่หลายเท่าตัว ซึ่งจะทำให้การติดตามการสัมผัสและตรวจเชื้อ (tracing and testing) และการควบคุมการแพร่ระบาดเป็นไปได้ยาก เมื่อประกอบกับการพบปะเดินทางสังสรรค์ของผู้คนที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงวันหยุดตามเทศกาล และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ไม่เข้มงวดเท่ารอบที่แล้ว จึงน่าจะมีโอกาสที่จะเห็นจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มในอัตราที่เร่งขึ้นในระยะอันใกล้ และเสี่ยงที่จะลากยาวกว่าการระบาดในระลอกแรก
อีกหนึ่งมิติที่แตกต่างของการระบาดครั้งนี้กับครั้งที่แล้ว คือ ในรอบนี้มีการแพร่ระบาดรุนแรงในกลุ่มแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว (migrant workers) ที่เป็นกำลังสำคัญในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย ซึ่งอาจรวมถึงแรงงานที่ลักลอบเข้าประเทศและทำงานอย่างผิดกฎหมายด้วย ประกอบกับสภาพแวดล้อมในการทำงานและอยู่อาศัยที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อ จะยิ่งทำให้การตรวจสอบและควบคุมในกลุ่มแรงงานทำได้ยาก หากสถานการณ์การติดเชื้อในกลุ่มแรงงานขยายวงลุกลามขึ้น อาจมีความเสี่ยงที่ทางการจะมีมาตรการเข้มงวดมากขึ้นในกลุ่มนี้และอาจกระทบต่อภาคการผลิตของไทยในระยะสั้นได้ โดยเฉพาะในเขตจังหวัดและภาคอุตสาหกรรมที่มีการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเข้มข้น (รูปที่ 10)
รูปที่ 10: จำนวนแรงงานต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานโดยถูกกฎหมาย
ที่มา: สำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน, KKP Research
2) ข้อจำกัดด้านสาธารณสุขในการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อ ถึงแม้มาตรการในปัจจุบันทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชนเอง จะทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ระดับหนึ่งโดยที่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงเท่ากับการล็อคดาวน์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว แต่หากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเกินขีดความสามารถในการรองรับในด้านสาธารณสุข ก็อาจนำไปสู่มาตรการควบคุมการระบาดที่จำเป็นต้องเข้มงวดมากขึ้นโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้
ข้อจำกัดที่สำคัญในการรับมือกับการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยโควิด-19 อาจไม่ใช่จำนวนเตียงในโรงพยาบาลซึ่งในปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 177,000 เตียงทั่วประเทศ (มีการใช้การอยู่ 75%) ที่ยังสามารถเพิ่มขึ้นได้จากการสร้างโรงพยาบาลสนามในกรณีจำเป็น แต่คอขวดในการรับมือกับผู้ป่วยโควิด-19 จะอยู่ที่ จำนวนห้องแยกโรคความดันติดลบ (negative pressure rooms) ที่สามารถป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคในอากาศ จำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยหนัก (ICU beds) เครื่องช่วยหายใจ (ventilators) และจำนวนบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลสำหรับดูแลผู้ป่วย ICU
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่า หากจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล (active hospitalization) เพิ่มขึ้นถึง 15,000-20,000 คน (ปัจจุบันอยู่ที่ราว 5,000 คน) จะถึงจุดที่เกินความสามารถด้านสาธารณสุขในการรองรับได้ และมีโอกาสที่จะเห็นมาตรการล็อคดาวน์กลับมาอีกครั้ง ทั้งนี้ อยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่า 1 ใน 4 ของผู้ป่วยโควิดที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจะเป็นผู้ป่วย ICU และ 50% ของทรัพยากรทางการแพทย์ที่มีอยู่และใช้การอยู่ในปัจจุบัน (รูปที่ 11) สามารถนำมาใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดได้ อย่างไรก็ดี การกระจายตัวของทรัพยากรทางการแพทย์ที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่อาจเป็นข้อจำกัดที่มากขึ้นในกรณีที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงในพื้นที่ที่สามารถรองรับผู้ป่วยได้น้อย (รูปที่ 12)
รูปที่ 11: เครื่องมือทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรง
ที่มา: รายงานข้อมูลทรัพยากรสาธารณสุข ประจำปี 2562
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และการประเมินโดย KKP Research
รูปที่ 12: จำนวนเตียงผู้ป่วยหนัก (ICU) ทั่วประเทศ
ที่มา: รายงานข้อมูลทรัพยากรสาธารณสุข ประจำปี 2562
สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และการประเมินโดย KKP Research
ดังนั้น หากการแพร่ระบาดเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วหรือลากยาวออกไปเป็นเวลานานก็จะยิ่งสร้างข้อจำกัดด้านสาธารณสุข ทั้งด้านเครื่องมือและยารักษาผู้ป่วย ตลอดจนความเหนื่อยล้าของบุคลากรทางการแพทย์ และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมมากยิ่งขึ้น
3) ประสิทธิผลและความครอบคลุมในการแจกจ่ายวัคซีน วัคซีนป้องกันโควิดเป็นกุญแจสำคัญของการที่เศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของผู้คนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และเป็นความหวังที่ประเทศไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกครั้ง สำหรับประเทศไทยตามการรายงานของทางการ ไทยจะได้รับวัคซีน Coronavac ที่ผลิตโดยบริษัท Sinovac Biotech ของประเทศจีน รวมทั้งสิ้น 2 ล้านโดส ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนนี้และได้สั่งจองวัคซีนจาก AstraZenaca อีก 26 ล้านโดส ซึ่งทางการคาดว่าจะได้รับในช่วงกลางปี 2564 และหากเป็นไปตามแผน ประชากรไทยประมาณ 20% จะได้รับวัคซีนภายในสิ้นปีนี้ (รูปที่ 13)
รูปที่ 13: วัคซีนโควิด-19 ที่คาดว่าไทยจะได้รับ
ที่มา: รายงานข่าวจากการให้สัมภาษณ์ของกระทรวงสาธารณสุข, KKP Research
อย่างไรก็ดี ความคาดหวังจากวัคซีนอาจจะสะดุดลงได้ หากวัคซีนที่ออกใช้มีประสิทธิผลในการป้องกันโควิด-19 ต่ำกว่าที่คาด หรือไม่สามารถป้องกันไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดรุนแรงกว่าเดิมได้ หรือมีผลข้างเคียงรุนแรง หรือการกระจายและการฉีดวัคซีนในประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยทำได้อย่างล่าช้า ซึ่งประเด็นปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้เกี่ยวกับวัคซีนนี้จะทำให้การประเมินการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ มีความเสี่ยงที่จะไม่ฟื้นได้เร็วตามที่คาด และในกรณีเลวร้ายของไทยหากวัคซีนไม่เป็นไปตามที่หวัง อาจหมายถึงประเทศจะไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เลยตลอดทั้งปี 2564
นโยบายจำเป็นต้องทำมากขึ้น
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร มองว่าในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงไปอีกครั้งเช่นนี้ สร้างความเสี่ยงอย่างมากต่อความอยู่รอดของภาคธุรกิจและภาวะความเป็นอยู่ของภาคครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มที่เปราะบางและยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่จากวิกฤตโควิดระลอกที่แล้ว ภาครัฐจำเป็นต้องมีบทบาทมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาในการช่วยเหลือเยียวยาภาคธุรกิจและแรงงาน รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจนกว่าการแพร่ระบาดและเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติ ถึงแม้บางโครงการ เช่น ‘คนละครึ่ง’ และ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ จะค่อนข้างประสบความสำเร็จและลงสู่ประชาชนและธุรกิจได้จริง แต่ก็ยังนับเป็นเม็ดเงินเพียงส่วนน้อย หากเปรียบเทียบขนาดของการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังกับประเทศอื่นจะพบว่าไทยยังมีการใช้จ่ายจากภาครัฐในระดับที่ต่ำมาก อีกทั้งการใช้งบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศไว้ขนาด 1 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา ในปัจจุบันยังถูกใช้ไปเพียงราวครึ่งหนึ่งเท่านั้น (รูปที่ 14) แสดงถึงความล่าช้าในการผลักดันมาตรการและโครงการต่างๆ ที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิผลและเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น
รูปที่ 14: การใช้งบประมาณภายใต้ พ.ร.ก. เยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 วงเงินทั้งสิ้น 1.9 ล้านล้านบาท
ที่มา: ThaiME, BoT, KKP Research
KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร มองว่าภาครัฐควรต้องผลักดันนโยบาย ทั้งมาตรการเยียวยาระยะสั้นเพื่อเป็นการประคับประคองภาคธุรกิจและแรงงาน และนโยบายการลงทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐานในระยะยาวที่จะเป็นการเพิ่มการจ้างงานและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องเพดานหนี้สาธารณะที่ 60% ของ GDP ไม่ควรเป็นข้อจำกัดในภาวะวิกฤตที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและความเดือดร้อนต่อประชาชนรุนแรงเช่นนี้ หากการกู้เงินของภาครัฐเป็นไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รั่วไหลน้อย และมีแผนในการรักษาวินัยทางการคลังอย่างเข้มงวด ก็จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและประชาชนโดยรวมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว (ดูบทความ “จากมาตรการเยียวยาสู่มาตรการกระตุ้นรอบใหม่ บทบาทภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ไหน”)
ในด้านนโยบายการเงิน KKP Research มองว่านโยบายการเงินจำเป็นต้องผ่อนคลายเพิ่มเติม ทั้งเพื่อสนับสนุนการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคการคลัง และเพื่อเป็นการตอบสนองได้อย่างทันท่วงทีในสถานการณ์ปัจจุบันที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มสะดุดลงจากการระบาดระลอกสอง โดยทั่วไปนโยบายการเงินจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาในการส่งผ่านเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริง การตอบสนองที่ช้าจะเปิดความเสี่ยงให้เกิดการหดตัวขนาดใหญ่ของเศรษฐกิจ ผู้ทำนโยบายสามารถเร่งผ่อนคลายทางนโยบายผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม รวมถึงการพิจารณาใช้นโยบายการเงินแบบใหม่ (unconventional policy) อื่นๆ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้สภาพคล่องในระบบไหลไปสู่เศรษฐกิจจริงมากขึ้น และอาจช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทอีกทางหนึ่งด้วย ควบคู่ไปกับการเร่งปลดล็อคเงื่อนไขของมาตรการด้านสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้เข้าถึงความช่วยเหลือได้จริงและเป็นวงกว้างมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา
อ่านบทความที่ผ่านมาของ KKP Research และบทความน่าสนใจอื่นๆ จากกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรได้ที่ https://advicecenter.kkpfg.com/th/money-lifestyle/money/economic-trend
KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
ณชา อนันต์โชติกุล ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์
ชินวุฒิ์ เตชานุวัตร์ ผู้อำนวยการ หัวหน้าทีมวิจัยอุตสาหกรรม
ณิชารีย์ อรัญ นักวิเคราะห์
ลัทธกิตติ์ ลาภอุดมการ นักวิเคราะห์
ธนัชพร นันทาภิวัธน์ นักวิเคราะห์
เคนเน็ท โดนัลท์ นีลเวล นักวิเคราะห์
วรเทพ วงศ์วิริยะสิทธิ์ นักวิเคราะห์
A1200
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ