WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

12725 SET Note coverความน่าสนใจของตลาดหุ้นไทย ในสายตานักลงทุนต่างประเทศ (FOREIGN holding 2020)

โดย สุมิตรา ตั้งสมวรพงษ์ และบุษบา คงปัญญากุล

ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

          • นักลงทุนต่างประเทศสนใจตลาดหุ้นไทย มีนักลงทุนสัญชาติใหม่ๆ เข้ามาในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลล่าสุด สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 มีนักลงทุนต่างประเทศ 116 สัญชาติ เพิ่มขึ้นสุทธิ 2 สัญชาติ ในตลาดหุ้นไทย

          สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 นักลงทุนต่างประเทศมีมูลค่าการถือครองหุ้นไทยรวม 3.76 ล้านล้านบาท ลดลง 22.2% จากเดือนพฤษภาคม 2562 ที่สำคัญจากราคาหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลดลง

                    - มูลค่าการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างประเทศลดลงในระดับใกล้เคียงกับ SET100 Index ที่ลดลงถึง 20.6% ทั้งนี้เนื่องจากมูลค่าการถือครองหุ้นส่วนใหญ่ (82%) เป็นหลักทรัพย์ในกลุ่ม SET100

                    - นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยกว่า 291,480 ล้านบาท ในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 - สิงหาคม 2563 โดยขายทำกำไรระยะสั้นใน local share 364, 324 ล้านบาท และขายสุทธิ foreign share ที่ถือไว้เพื่อลงทุนระยะยาวเพียง 9,474 ล้านบาท ในทางกลับกันนักลงทุนต่างประเทศซื้อหุ้นสะสมผ่าน NVDR กว่า 82,228 ล้านบาท สะท้อนนักลงทุนต่างประเทศทำกำไรระยะสั้นในตลาดหุ้นไทย ขณะที่เชื่อมั่นบริษัทจดทะเบียนไทยยังคงถือหุ้นเพื่อลงทุนระยะยาว 

                    - เมื่อพิจารณาการซื้อขายรายหลักทรัพย์ พบว่า นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิใน 2,215 หลักทรัพย์ จาก 7,179 หลักทรัพย์ที่นักลงทุนต่างประเทศซื้อขาย 

                    - นอกจากการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย พบนักลงทุนต่างประเทศใช้สิทธิสะสมหุ้นเพิ่มเติมผ่านกิจกรรมระดมทุน ทั้งการจองซื้อหุ้นของบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ การใช้สิทธิจองหุ้นซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียนเดิม และการแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิเป็นหุ้นสามัญ เป็นต้น

 

 

          ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์แพร่ระบาดของระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส 2019” (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวลดลง

          จากสถานการณ์ของทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก พบว่า องค์กรการเงินระหว่างประเทศ หรือ International Monetary Fund (IMF) ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกในปี 2563 ลดอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกหลากหลาย แต่ การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส 2019” (COVID-19) ที่เริ่มขึ้นในช่วงปลายปี 2562 กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิต ความอยู่รอดของธุรกิจ เศรษฐกิจในทุกระดับ และขยายความรุนแรงจนในที่สุดองค์กรอนามัยโลก หรือ World Health Organization (WHO) ได้ประกาศยกระดับการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็น โรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น มีการปรับพอร์ตการลงทุน มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนไปยังสินค้าโภคภัณฑ์ ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับลดลง 

          จากการศึกษาข้อมูลการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ ในตลาดหุ้นไทยจาก 1) ข้อมูลการปิดสมุดทะเบียนเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้น 2) ข้อมูล Corporate Actions 3) ข้อมูลการระดมทุนผ่านตลาดรองของบริษัทจดทะเบียน 695 บริษัท จากทั้งหมด 712 บริษัท โดยใช้ข้อมูลล่าสุดถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมกว่า 13 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 98.20% ของมูลค่าหลักทรัพย์รวมทั้งตลาด พบประเด็นสำคัญ ดังนี้

          นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มมากขึ้น (พิจารณาจากจำนวนสัญชาตินักลงทุนโดย สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 มีนักลงทุนต่างประเทศถือครองหุ้นในตลาดหุ้นไทยรวม 116 สัญชาติ เพิ่มขึ้นสุทธิ 2 สัญชาติจากปีก่อน

          จากการศึกษาพบว่า สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 มีนักลงทุนต่างประเทศถือครองหุ้นในตลาดหุ้นไทยรวม 116 สัญชาติ เพิ่มขึ้นสุทธิ 2 สัญชาติ (ภาพที่ 1) จากข้อมูลการถือครองหุ้นปีก่อน (ข้อมูล สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562) โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ มีนักลงทุนสัญชาติใหม่เข้ามาในตลาด 7 สัญชาติ และออกจากตลาด 5 สัญชาติ

 

ภาพที่ 1 จำนวนสัญชาติของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยในปี 2556 - 2563

หน่วย: สัญชาติ

12725 SET Note1

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

          ในกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนใหม่ 7 สัญชาติ (ภาพที่ 2) พบว่า นักลงทุนจากเนเธอร์แลนด์แอนทิลลีส นักลงทุนจากสาธารณรัฐลัตเวีย นักลงทุนจากสาธารณรัฐไนเจอร์ นักลงทุนจากนักลงทุนจากราชอาณาจักรเอสวาตีนี และนักลงทุนจากราชอาณาจักรตองกา เคยลงทุนในตลาดหุ้นไทย แต่หายไปในปี 2557 ได้กลับเข้ามาใหม่ในปี 2563 ขณะที่นักลงทุนจากสาธารณรัฐอุซเบกิสถาน และนักลงทุนบุคคล จากสาธารณรัฐแซมเบีย เข้ามาในตลาดหุ้นไทยเป็นครั้งแรก โดยลงทุนในหุ้นที่มีอยู่แล้วในตลาด ไม่ได้เป็นหุ้นจดทะเบียนใหม่ ซึ่ง 97% ของมูลค่าการถือครองหุ้นเป็นการถือ NVDR และอีก 3%เป็น foreign shares

 

ภาพที่ 2 นักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนใหม่ 7 สัญชาติ

 

12725 SET Note2

 

ภาพที่ 3 นักลงทุนต่างประเทศที่หายไป 5 สัญชาติ ได้แก่

 

12725 SET Note3

 

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

          นักลงทุนต่างประเทศที่ออกจากตลาดหุ้นไทย (ภาพที่ 3) เกือบทุกสัญชาติข้างต้น ลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากกว่า 1 ปี ยกเว้น นักลงทุนจากสาธารณรัฐอาร์มีเนียที่เพิ่งเข้าลงทุนและถือครองหุ้นในตลาดเมื่อปี 2562 และออกจากตลาดในปี 2563

          มูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยลดลง สาเหตุหลักจากราคาหลักทรัพย์ที่ลดลง โดย สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 มูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 3.76 ล้านล้านบาท ลดลง 22.2% จากสิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 ที่สำคัญจากราคาหลักทรัพย์ (SET Index) ที่ลดลง 19.1% และการขายสุทธิกว่า 291,480 ล้านบาท

          สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 มูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 3.76 ล้านล้านบาท ลดลง 22.2% จากเดือนพฤษภาคม 2562

          จากการประมาณการมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ พบว่า สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 นักลงทุนต่างประเทศมีมูลค่าการถือครองหุ้นในตลาดหุ้นไทย รวม 3.76 ล้านล้านบาท ลดลง 22.2% จากเดือนพฤษภาคม 2562 (ภาพที่ 4) (ที่สำคัญจากการลดลงของราคาหลักทรัพย์และการขายสุทธิ) สัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่ 26.91% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) ลดลงจาก 29.45% ในปีก่อน (สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562)

 

ภาพที่ 4 SET Index และมูลค่าการถือครองหุ้นและสัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ 

 

12725 SET Note4

 

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

          SET Index ปรับลดลงกว่า 19%

          สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 ราคาหลักทรัพย์ปรับลดลงมากเมื่อพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาหลักทรัพย์ 

(ตารางที่ 1) โดย SET Index ปรับลดลง 19.11% จากสิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 ก่อนปรับลดลงอีก 5.62% ในเดือนกันยายน 2563 ขณะที่ SET 50 Index สิ้นเดือนสิงหาคม 2563 ลดลง 21.46% จากเดือนพฤษภาคม 2562 และลดลงต่อเนื่องอีก 7.48% ในเดือนกันยายน 2563 และ SET100 ลดลง 20.55% จากสิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 ก่อนปรับลดลงอีก 7.19% ในเดือนกันยายน 2563

 

ตารางที่ 1 SET Index, SET50 Index และ SET100 Index

12725 SET Note T1

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

          การถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นหุ้นในกลุ่ม SET100 ทำให้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงราคามากกว่าการเปลี่ยนแปลงของ SET Index

          การเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้มูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยลดลง เนื่องจาก 82% ของมูลค่าหลักทรัพย์ในการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม SET100 (ภาพที่ 5) โดย 75% อยู่ในกลุ่ม SET50 และ 7% อยู่ในกลุ่ม SET51-100 ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ในการถือครองของนักลงทุนต่างประเทศลดลงในระดับใกล้เคียงกับการลดลงของ SET50 และ SET100 ที่ลดลงกว่า 20% 

 

ภาพที่ 5 มูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ แบ่งกลุ่มตามขนาดหลักทรัพย์

หน่วย: % ต่อมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ

 

12725 SET Note5

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

          ในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 - สิงหาคม 2563 นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยกว่า 291,480 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำกำไรระยะสั้นในตลาดหุ้นไทย 

          ในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 - สิงหาคม 2563 นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิกว่า 291,480 ล้านบาท (ภาพที่ 6) หรือประมาณ 6% ของมูลค่าการถือครองหุ้น สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 โดยสรุปเหตุการณ์ที่มีนัยสำคัญผลต่อการซื้อขายสุทธิของ นักลงทุนต่างประเทศ ดังนี้

 

ภาพที่ 6 มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์สุทธิของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยและ SET Index

ในช่วงเดือนมกราคม 2562 - พฤศจิกายน 2563

หน่วย: ล้านบาท

12725 SET Note6

 

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

          • ในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2562 นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิกว่า 67,470 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก MSCI ปรับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับข้อจำกัดของการลงทุน (Investment Limits) โดยสามารถนำหลักทรัพย์ NVDR เข้ามาคำนวณสำหรับ MSCI Emerging Market (MSCI EM) หรือ ดัชนี MSCI ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ ส่งผลให้หุ้นไทยโดยรวมมีสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นใน MSCI Emerging Market นอกจากนี้ยังปรับเพิ่มอีก 4 หลักทรัพย์จดทะเบียนไทยเป็นองค์ประกอบใน MSCI Thailand 

          ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2562 - สิงหาคม 2563 นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิต่อ เนื่อง 13 เดือน รวมมูลค่าขายสุทธิกว่า 358,950 ล้านบาท โดยมีปัจจัยลบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) วิกฤติการณ์ราคาน้ำมัน และสงครามการค้าระหว่างประเทศ 

          เดือนมีนาคม 2563 นักลงต่างประเทศขายสุทธิมากที่สุด 78,363 ล้านบาท สาเหตุสำคัญจากความวิตกกังวลของนักลงทุน จากการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศ ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม 2563 การประกาศยกระดับการแพร่ระบาดของ COVID-19 จากโรคระบาด (Epidemic) เป็น โรคระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic) ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ในวันที่ 11 มีนาคม 2563 และเหตุการณ์วิกฤติราคาน้ำมันระหว่างสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และกลุ่มองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (OPEC) ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกลดลงอย่างหนัก ซึ่งตลาดหุ้นไทยก็เป็นอีกตลาดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ ส่งผลให้ SET Index ปรับลดลง โดยในเดือนมีนาคม 2563 ตลาดหุ้นไทยใช้มาตรการหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราว (Circuit Breaker) ถึง 3 ครั้ง เท่ากับจำนวนครั้งในการใช้มาตรการ Circuit Breaker ในช่วง 44 ปีที่ผ่านมาของตลาดหุ้นไทย ตามรายละเอียด ดังนี้

          ครั้งที่ 1 ปี 2563 (ครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย) เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2563 

          ครั้งที่ 2 ปี 2563 (ครั้งที่ 5 ในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย) เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563

          ครั้งที่ 3 ปี 2563 (ครั้งที่ 6 ในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ตามการปรับ Circuit Breaker ชั่วคราวจาก 2 ระดับไปที่ 3 ระดับ

          ในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 - สิงหาคม 2563 นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิต่อเนื่อง 13 เดือน รวมกว่า 358,950 ล้านบาท สาเหตุสำคัญจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ที่รุนแรงขึ้น วิกฤติการณ์ราคาน้ำมันที่ราคาน้ำมันลดลงอย่างหนักและสงครามการค้าระหว่างประเทศ 

          • นักลงทุนต่างประเทศยังคงขายสุทธิต่อเนื่องจนถึงเดือนตุลาคม 2563 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงอยู่ แต่มีข้อสังเกตว่า มูลค่าการขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศมีมูลค่าลดลงทุกเดือนตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2563 ที่นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิลดลงเหลือ 9,938 ล้านบาท ก่อนกลับมาขายสุทธิในเดือนสิงหาคม 2563 – ตุลาคม 2563 จากสถานการณ์ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกสอง ที่มีแนวโน้มจำนวนยอดผู้ติดเชิ้อ COVID-19 สูงขึ้นในโดยเฉพาะประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกาเนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศหนาวเย็นโดย 31 ตุลาคม 2563 ยอดผู้ป่วยติดเชื้อกว่า 45 ล้านคน นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนสหรัฐ และเหตุการณ์ชุนนุมในประเทศที่มีความยืดเยื้อ

 

          นักลงทุนต่างประเทศยังคงสนใจลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นไทย และสร้างกำไรจากผลต่างของราคาหลักทรัพย์ สังเกตได้จากพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์และการถือครองหลักทรัพย์

          เพื่อให้เข้าใจที่ถูกต้อง ตรงกันเกี่ยวกับพฤติกรรมนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทย ในการศึกษานี้จึงแยกองค์ประกอบกิจกรรมต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ 1) การถือครองหุ้นในช่วงที่ทำการศึกษา 2) การซื้อขายหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ ที่เป็นเสมือนกระแสสินทรัพย์ที่กระทบต่อมูลค่าการถือครองหุ้น 3) การใช้สิทธิผ่านกิจกรรมการระดมทุน ซึ่งพบว่า

          นักลงทุนต่างประเทศสนใจลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น มากกว่า 3 ใน 4 ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวม ของนักลงทุนต่างประเทศเป็นการถือครองหุ้น foreign share ที่มีสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมฯ  

          จากการศึกษาการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ พบว่า 78.68% ของมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศถือเป็น foreign shares ที่นักลงทุนต่างประเทศจะได้ทั้งสิทธิทางการเงิน (financial benefits) และสิทธิในการออกเสียงในประชุม ผู้ถือหุ้น (voting right) และที่เหลือเกือบทั้งหมดประมาณ 21.32% ถือครอง NVDR ที่นักลงทุนต่างประเทศจะได้รับสิทธิทางการเงินแต่ไม่มีสิทธิออกเสียงฯ และถือครอง local shares เพียงเล็กน้อยไม่ถึง 0.01% ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวมทั้งหมด (ภาพที่ 7) ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า นักลงทุนต่างประเทศสนใจลงทุนระยะยาวในประเทศไทยเพราะให้ความสำคัญกับสิทธิทางการเงินและสิทธิในการออกเสียงในที่ประชุมฯ

 

ภาพที่ 7 สัดส่วนมูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ 

จำแนกกลุ่มหลักทรัพย์ตามสิทธิการออกเสียง

หน่วย: % ต่อมูลค่าการถือครองรวมของนักลงทุนแต่ละกลุ่ม

12725 SET Note7

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

          นักลงทุนต่างประเทศไม่นำหุ้นกลุ่ม foreign share มาซื้อขาย เพราะมีจำนวนจำกัดตามเพดานการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศ แต่ทำกำไรระยะสั้นผ่าน local share และ NVDR 

          จากข้อมูลการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 - สิงหาคม 2563 ที่นักลงทุนต่างประเทศซื้อขายรวมกว่า 14.43 ล้านบาท หรือ 37.94% ของมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งตลาด และหากพิจารณาการซื้อขายโดยแบ่งกลุ่มหลักทรัพย์ตามสิทธิการออกเสียงฯ คือ foreign share NVDR และ local share พบว่า นักลงทุนต่างประเทศซื้อขายมากที่สุดในกลุ่ม local shares ที่ระดับ 49.75% ของมูลค่าการซื้อขายรวมของนักลงทุนต่างประเทศ ตามมาด้วยกลุ่ม NVDR 47.74% และกลุ่ม foreign shares เพียง 2.48% เท่านั้น (ภาพที่ 8) แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนต่างประเทศทำกำไรระยะสั้นในตลาดหุ้นไทย โดยซื้อขายหุ้นกลุ่ม local shares และ NVDR ที่มีสภาพคล่องในการซื้อขายเดียวกับนักลงทุนในประเทศ 

          ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างประเทศไม่นิยมนำหุ้นกลุ่ม foreign share ออกมาซื้อขาย ด้วยสาเหตุสำคัญ 2 ประการ ประการแรก คือ หุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่มีการถือครองหุ้นครบตามปริมาณหุ้นสูงสุดที่อนุญาตให้นักลงทุนต่างประเทศถือครองหุ้นได้ (เพดานการถือครองหุ้นฯ) แล้วและหากขาย foreign share ในพอร์ตของตนออกไป อาจไม่สามารถซื้อกลับมาได้ ประการที่สอง คือ สภาพคล่องในการซื้อขายต่ำ เนื่องจากนักลงทุนเก็บ foreign share ในพอร์ตไม่นำมาซื้อขาย แม้ว่านักลงทุนต่างประเทศมีความต้องการที่จะซื้อหุ้นกลุ่ม foreign share แต่อาจไม่มีผู้ขาย

 

ภาพที่ 8 สัดส่วนมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างประเทศ ในช่วงที่ทำการศึกษา

จำแนกกลุ่มหลักทรัพย์ตามสิทธิการออกเสียง

หน่วย: % ต่อมูลค่าการซื้อขายรวมของนักลงทุนต่างประเทศ

 

12725 SET Note8

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

          จากการขายสุทธิกว่า 291,480 ล้านบาทของนักลงทุนต่างประเทศ พบว่า เป็นการขายสุทธิในหุ้นกลุ่ม local share กว่า 364,324 ล้านบาท ขณะซื้อสุทธิในหุ้นกลุ่ม NVDR สะท้อนชัดว่า มูลค่าการขายสุทธิส่วนใหญ่เป็นการขายทำกำไรระยะสั้น

          จากการขายสุทธิ 291,480 ล้านบาทของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทยในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 - สิงหาคม 2563 ทำให้มีประเด็นคำถามว่า ตลาดหุ้นไทยยังคงมีความน่าสนใจในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศหรือไม่ซึ่งจากการศึกษาพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทย โดยจำแนกจำแนกกลุ่มหลักทรัพย์ตามสิทธิการออกเสียงฯ (ภาพที่ 9) พบว่า

          ขายสุทธิทำกำไรระยะสั้นใน local share กว่า 364,324 ล้านบาท

          ขายสุทธิใน foreign share ที่นักลงทุนต่างประเทศถือครองไว้เพื่อลงทุนระยะยาวขายสุทธิเพียง 9,474 ล้านบาท

          ซื้อสุทธิสะสมใน NVDR กว่า 82,228 ล้านบาท โดยซื้อสุทธิ 9 เดือนจาก 15 เดือน

 

ภาพที่ 9 มูลค่าการซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างประเทศ ในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 - สิงหาคม 2563

จำแนกกลุ่มหลักทรัพย์ตามสิทธิการออกเสียง

หน่วย: % ต่อมูลค่าการซื้อขายรวมของนักลงทุนต่างประเทศ

12725 SET Note9

 

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

          แสดงให้เห็นชัดเจนว่า นักลงทุนต่างประเทศขายทำกำไรจากส่วนต่างราคาจาก local share แต่ถือครอง foreign share เพื่อให้ได้รับทั้งสิทธิประโยชน์ทางการเงินและสิทธิออกเสียงฯ สำหรับการลงทุนระยะยาว ขณะที่นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิสะสมหุ้น NVDR เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการเงินครบถ้วนและมีสภาพคล่องซื้อขายเทียบเท่ากับ local share (ภาพที่ 10)

 

ภาพที่ 10 จุดเด่น จุดด้อยของกลุ่มหลักทรัพย์ตามสิทธิการออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น

สำหรับนักลงทุนต่างประเทศในตลาดหุ้นไทย

 

12725 SET Note10

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

          นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 2,215 หลักทรัพย์จากทั้งหมด 7,179 หลักทรัพย์ที่ทำการซื้อขาย 

          ในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 - สิงหาคม 2563 นักลงทุนต่างประเทศมีมูลค่าการซื้อขาย 14.4 ล้านล้านบาท จาก 7,179 หลักทรัพย์ โดยมีสถานะเป็นผู้ขายสุทธิในตลาดไทยกว่า 291,480 ล้านบาท แต่จากการศึกษาพบข้อมูลที่น่าสนใจ คือ นักลงทุนต่างประเทศมีฐานะเป็นผู้ซื้อสุทธิใน 2,215 หลักทรัพย์ (ตารางที่ 2) 

          มูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายหุ้นสามัญ ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 12.4 ล้านล้านบาท (85.9% ของมูลค่าการซื้อขาย) จากหุ้นสามัญ 798 หลักทรัพย์ มีสถานะขายสุทธิ 289,246 ล้านบาท แต่ นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิใน 371 หลักทรัพย์แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนต่างประเทศมีการเลือกสะสมหุ้นสามัญบางหลักทรัพย์

 

ตารางที่ 2 สถิติการซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างประเทศ ในตลาดหุ้นไทย ในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 - สิงหาคม 2563

12725 SET Note T2

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

          ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์หรือ Derivative Warrants (DW) เป็นกลุ่มหลักทรัพย์ที่นักลงทุนต่างประเทศซื้อขายด้วยจำนวนหลักทรัพย์มากที่สุด ด้วยจำนวน 6,225 หลักทรัพย์ มีมูลค่าการซื้อขายรวม 2.0 ล้านล้านบาท และมีสถานะขายสุทธิ 2,828 ล้านบาท และมี 1,783 หลักทรัพย์ที่นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ

          ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญหรือ Warrants เป็นกลุ่มหลักทรัพย์ที่นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิสูงสุดรวม 597 ล้านบาท ขณะที่ กองทุนรวมดัชนีที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์หรือ Exchange Traded Fund (ETF) เป็นกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีสัดส่วนจำนวนหลักทรัพย์ที่ซื้อสุทธิต่อจำนวนหลักทรัพย์ที่ซื้อขายมากกว่าหลักทรัพย์ประเภทอื่น โดยซื้อสุทธิใน 11 หลักทรัพย์จากทั้งหมด 16 หลักทรัพย์ สะท้อนในเห็นว่า นักลงทุนต่างประเทศมีการเก็บสะสมในหลักทรัพย์กลุ่มนี้

 

          นักลงทุนต่างประเทศสะสมหุ้นจากการใช้สิทธิและได้รับสิทธิผ่านกิจกรรมระดมทุน และกิจกรรม corporate actions 

          จากการพิจารณากิจกรรมระดมทุนและกิจกรรม corporate actions ของ 31 บริษัทจดทะเบียน ในช่วงเดือนมิถุนายน 2562 - สิงหาคม 2563 พบว่า มีมูลค่ากิจกรรมฯ รวม 133,903 ล้านบาท พบว่า นักลงทุนต่างประเทศ 34 สัญชาติ ได้ใช้สิทธิและรับสิทธิประโยชน์จากบริษัทจดทะเบียนรวม 18,397 ล้านบาท โดยอันดับแรก เป็นการซื้อหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนที่เสนอขายต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกของบริษัทจดทะเบียนที่จะเข้าซื้อขายในตลาด (IPO) มูลค่ารวม 9,517 ล้านบาท อันดับ 2 คือ การใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน 6,303 ล้านบาท อันดับที่ 3 คือ การแปลงสภาพใบสำคัญแสดงสิทธิ (warrant) เป็นหุ้นสามัญ 2,440 ล้านบาท และอันดับสุดท้าย การปันผลเป็นหุ้นสามัญ 137 ล้านบาท (ตารางที่ 3)

 

ตารางที่ 3 กิจกรรมระดมทุนและกิจกรรม Corporate actions

หน่วย: ล้านบาท

12725 SET Note T3

ที่มา: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

          กล่าวโดยสรุป จากพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์และพฤติกรรมการถือครองหลักทรัพย์ สะท้อนว่านักลงทุนต่างประเทศยังสนใจลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นไทยโดยถือ foreign share มากกว่า 3 ใน 4 ของมูลค่าการถือครองหุ้นรวมของนักลงทุนต่างประเทศ และนำมาซื้อขายน้อยมาก ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจซื้อขาย local shares และ NVDR เนื่องจากสภาพคล่องสูงเพื่อทำกำไรระยะสั้น

          นอกจากผลการศึกษาข้างต้นแล้ว ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่มีข่าวความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่บริษัทยาชั้นนำทั่วโลกทดลอง วิจัย และพัฒนาวัคซีน ได้รับผลดีกว่าที่คาด ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น กระแสเงินจากต่างประเทศไหลเข้าตลาดหลักทรัพย์ต่างๆ โดยในเดือนพฤศจิกายน 2563 นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยเป็นเดือนแรกในรอบ 16 เดือน (นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2562) ด้วยมูลค่าซื้อสุทธิ 32,506 ล้านบาท ขณะที่ SET Index เพิ่มขึ้น Index ปิดที่ 1,408.31 จุด หรือเพิ่มขึ้น 213.36 จุด ในเดือนเดียว คาดว่าปัจจัยบวกจากราคาหลักทรัพย์จะปรับเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้มูลค่าการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 7% ใกล้เคียงการปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 7% ของ SET100 Index 

 

A12725

COREHOON

******************************************

line logotwitterLike1 Share3Like1 Share1กด Like - Share  เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ

 Click Donate Support Web

FBS728

EXNESS

SAM720x100px bgGC 790x90

SME720 x 100banpu 720x90 new1 1

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!