WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

TMB Analytics เผยผลสำรวจธุรกิจ SME ในQ3/57 ยังอ่อนแอ เหตุราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กระทบความเชื่อมั่น

     ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยผลการจัดทำ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี พบว่า ความเชื่อมันของธุรกิจ SME ในไตรมาส 3 ยังอ่อนแอ แม้จะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2557 และมองราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทำภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคซึม กระทบต่อธุรกิจ SME ต่อเนื่อง

    นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผย'ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี' (TMB-SME Sentiment Index) ไตรมาส 3/2557 จากการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ SME กว่า 1,100 กิจการ ครอบคลุม 71 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 1.4 จุด โดยล่าสุดอยู่ที่ 38.0 นับเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกและเป็นระดับที่สูงที่สุดในปีนี้ อย่างไรก็ดี ดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่า SME ยังไม่มีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะธุรกิจของตัวเองในปัจจุบัน โดยเฉพาะความเชื่อมั่นในด้านรายได้ธุรกิจ จากภาวะซบเซาของเศรษฐกิจภูมิภาคที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค

   เมื่อพิจารณารายละเอียดแต่ละภูมิภาค พบว่า ผู้ประกอบการ SME ภาคตะวันออก และ เขตกรุงเทพและปริมณฑล มีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันสูงเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ สอดคล้องกับทิศทางการจับจ่ายใช้สอยในไตรมาส 3 ที่สูงขึ้นกว่าช่วงต้นปีในพื้นที่ดังกล่าว แต่ในทางกลับกัน ภูมิภาคที่มีการพึ่งพารายได้จากภาคเกษตรกรรมค่อนข้างมาก กลับมีระดับความเชื่อมั่นอยู่ในระดับที่ต่ำต่อเนื่อง

   “สาเหตุหลักที่ทำให้ธุรกิจ SME ในหลายภูมิภาคยังขาดความเชื่อมั่น เป็นเพราะความกังวลเกี่ยวกับรายได้ของธุรกิจซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับภาวะเศรษฐกิจและการแข่งขันในพื้นที่ โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจและรายได้ในส่วนภูมิภาคยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มศักยภาพคือ ราคาสินค้าเกษตรยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อของเกษตรกรผู้เป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิตกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในหลายๆภูมิภาค” นายเบญจรงค์กล่าว

  ทั้งนี้ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการพึ่งพารายได้ภาคการเกษตรค่อนข้างสูงถึง ร้อยละ 31 ร้อยละ 26 และร้อยละ 23 ตามลำดับ และมีสัดส่วนแรงงานในภาคเกษตรกรรมเกินกว่าร้อยละ 40 ทั้งสิ้น ทำให้ภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคทั้ง 3 มีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้าเกษตรค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับภาคที่มีการพึ่งพารายได้ภาคการเกษตรต่ำกว่า โดยเฉพาะในภาคใต้ ที่มีระดับความเชื่อมั่นต่ำกว่าทุกภูมิภาค และยังเป็นภาคที่มีอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 1.3  สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆในประเทศ

   ดังนั้น เมื่อราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เกษตรกรในฐานะผู้บริโภค จะซื้อสินค้าและบริการจากธุรกิจ SME ในพื้นที่น้อยลง ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจภูมิภาคน้อยลงไปด้วย โดยธุรกิจที่ค้าขายสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าคงทน เช่น ศูนย์จำหน่ายยานยนต์และจักรยานยนต์ เครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน จะได้รับผกระทบมากกว่าผู้ค้าในหมวดอื่นๆ ในขณะที่เกษตรกรในฐานะผู้ผลิตสินค้าเกษตร จะใช้จ่ายลงทุนซื้อหาปัจจัยการผลิตน้อยลงเช่นกัน โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ ตัวแทนจำหน่ายปุ๋ยและเคมีภัณฑ์เกษตร อาหารสัตว์ วัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรกลการเกษตร ในพื้นที่ เป็นต้น

  “ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า รายได้เกษตรกรมีความสัมพันธ์โดยตรงกับธุรกิจ SME ในภูมิภาคนั้นๆ ดังนั้น การที่ภาครัฐได้เร่งรัดออกนโยบายเพื่อบรรเทาการลดลงของรายได้เกษตรกร นอกจากเกิดผลดีต่อเกษตรกรโดยตรงแล้ว ยังส่งผลดีต่อธุรกิจ SME ในพื้นที่อีกด้วย”นายเบญจรงค์ กล่าวสรุป

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!