- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Friday, 10 October 2014 21:21
- Hits: 4714
คนอีสานไม่เชื่อว่ามีแหล่งน้ำมันมากในอีสาน เชื่อน้ำมันแพงเพราะผูกขาด ยังค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง'การรับรู้และความคิดเห็นประเด็นพลังงานของคนอีสาน' ผลสำรวจพบว่า คนอีสานไม่เชื่อข่าวที่ว่าอีสานอาจมีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาลครอบคลุมพื้นที่ครึ่งหนึ่งของภาคอีสาน แต่เชื่อว่ารัฐและเอกชนได้ประโยชน์พอๆ กัน จากการจัดการผลประโยชน์ในทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่วนประเด็นการส่งคืนท่อก๊าซนั้นคนอีสานไม่แน่ใจหรือไม่ได้ติดตาม ด้านรายชื่อสภาปฏิรูปด้านพลังงานคนอีสานก็ไม่ได้ให้ความสำคัญ นอกจากนี้ยังเห็นว่าข้อมูลด้านพลังงานจากผู้บริหารกระทรวงพลังงานน่าเชื่อถือกว่ากลุ่มอื่นๆ และเชื่อว่าสาเหตุหลักน้ำมันแพงคือการผูกขาดธุรกิจ และยังคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แม้มีกองทุนพัฒนาชุมชน
ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นและการรับรู้ของคนอีสานเกี่ยวกับประเด็นพลังงาน ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3-5 ตุลาคม 2557 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,076 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด
เมื่อสอบถามถึงกรณีที่มีข่าวว่าอีสานอาจมีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาลครอบคลุมพื้นที่ครึ่งหนึ่งของภาคอีสาน ท่านเห็นอย่างไร กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 55.4 เชื่อว่ามีไม่มากขนาดนั้น รองลงมาร้อยละ 24.1 เชื่อว่ามีมากจริง และอีกร้อยละ 20.5 ไม่แน่ใจกับข่าวดังกล่าว
ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับประเทศไทยมีการจัดการผลประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นอย่างไร พบว่าอันดับหนึ่งกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 59.4 เห็นว่ารัฐและเอกชนได้ประโยชน์พอๆ กัน รองลงมาร้อยละ 26.4 เห็นว่ารัฐได้ผลประโยชน์สุทธิมากกว่าเอกชน และอีกร้อยละ 14.2 เห็นว่าเอกชนได้ผลประโยชน์สุทธิมากกว่ารัฐ
เมื่อถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการส่งคืนท่อก๊าซของ ปตท. ให้กับรัฐที่ผ่านมา เป็นธรรมหรือไม่ พบว่าอันดับหนึ่งกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 43.2 ไม่แน่ใจเกี่ยวกับการส่งคืนท่อก๊าซของ ปตท. รองลงมาร้อยละ 28.0 ยังไม่ทราบเรื่อง ร้อยละ 12.6 เห็นว่าเป็นธรรมเหมาะสมกับทุกฝ่ายแล้ว ร้อยละ 10.1 เห็นว่าไม่เป็นธรรมเพราะภาครัฐยังไม่ได้ท่อก๊าซคืนในส่วนที่วางใต้ทะเล และอีกร้อยละ 6.2 เห็นว่าไม่เป็นธรรมเพราะปตท.เสียประโยชน์ที่ควรได้
ด้านความพึงพอใจต่อรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านพลังงาน พบว่าอันดับหนึ่งกลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 53.7 ไม่ได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร รองลงมาร้อยละ 23.7 พอทราบและเฉย ๆ ร้อยละ 11.9 พอทราบและไม่พอใจ และร้อยละ 10.6 พอทราบและพอใจ
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการรับฟังข้อมูลด้านพลังงานของไทย กลุ่มใดที่ให้ข้อมูลได้น่าเชื่อถือที่สุด พบว่าอันดับหนึ่งกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 42.4 เห็นว่าผู้บริหารกระทรวงพลังงานน่าจะให้ข้อมูลได้น่าเชื่อถือที่สุด รองลงมาร้อยละ 22.3 เห็นว่าเป็นนักวิชาการพลังงาน ร้อยละ 18.4 เห็นว่าเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวปฏิรูปพลังงาน ร้อยละ 13.2 เห็นว่าเป็นผู้บริหารธุรกิจพลังงาน และที่เหลือร้อยละ 3.7 เห็นว่าเป็นกลุ่มอื่น ๆ
เมื่อสอบถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานว่า สาเหตุหลักๆ ที่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปในไทยแพงคืออะไรในความเข้าใจของท่าน พบว่าอันดับหนึ่ง ร้อยละ 44.9 เข้าใจว่าเป็นการผูกขาดธุรกิจน้ำมัน รองลงมา ร้อยละ 35.6 เข้าใจว่าเป็นภาษีและกองทุนน้ำมัน และร้อยละ 19.5 เข้าใจว่าเป็นไปตามราคาตลาดโลก
นอกจากนี้ อีสานโพลยังสอบถามต่อว่าหากจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ตั้งใกล้ชุมชนของท่าน โดยมีการตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาชุมชนด้วย ท่านจะต่อต้านหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 66.8 จะต่อต้านโรงไฟฟ้าดังกล่าว รองลงมาร้อยละ 20.8 ยังไม่แน่ใจ และอีกร้อยละ 12.4 คิดว่าจะไม่ต่อต้าน
ท้ายสุด ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยมีการตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาจังหวัดด้วยเช่นเดียวกัน กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 80.4 จะต่อต้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดังกล่าวซึ่งสูงกว่าสัดส่วนการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน รองลงมาร้อยละ 13.3 ยังไม่แน่ใจ และอีกร้อยละ 6.3 คิดว่าจะไม่ต่อต้าน
หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลสำรวจ ซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้ว ความคิดเห็นอื่นๆ ในผลสำรวจนี้เป็นความเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น