WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์ เรื่องส่งออกไทยหดตัวกว่า 7%YOY ในเดือนสิงหาคม โดยระบุว่า 

Event

    กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนสิงหาคมที่ 18,943.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 7.4%YOY (เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า) ด้านการนำเข้าในเดือนสิงหาคมหดตัว 14.2% มาอยู่ที่ 17,797.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ไทยเกินดุลการค้าที่ 1,146.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Analysis

      มูลค่าการส่งออกหดตัวรุนแรงในเดือนสิงหาคม จากการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และน้ำมันสำเร็จรูป การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบในเดือนสิงหาคมลดลงจากการส่งออกไปยังตลาดหลักอย่างอินโดนีเซียที่หดตัว 23.8%YOY เนื่องจากอินโดนีเซียมีการผลิตรถยนต์เพื่อใช้ในประเทศมากขึ้น ทำให้ความต้องการในการนำเข้าลดลง อีกทั้งการลดกำลังการผลิตรถยนต์ของไทยในปีนี้ ส่งผลให้ในเดือนสิงหาคมรถยนต์และส่วนประกอบหดตัว 8.5%YOY  ด้านการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าในเดือนสิงหาคมหดตัว 2.6%YOY จากการส่งออกเครื่องปรับอากาศที่หดตัวกว่า 10%YOY โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปญี่ปุ่นและอินโดนีเซียที่หดตัวราว 27%YOY นอกจากนี้การส่งออกนำมันสำเร็จรูปปรับตัวลดลงกว่า 16%YOY ในเดือนสิงหาคมจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่หดตัว ด้านการส่งออกยางพารายังคงหดตัวโดยในเดือนสิงหาคมลดลงอีก 23.3%YOY จากราคายางพาราโลกที่ปรับลดลง

      การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสินค้าเกษตรสำคัญอื่นๆ ขยายตัวดีขึ้นจากเดิม การส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้าขยายตัวได้ดีในเดือนสิงหาคม โดยขยายตัว 7.0% และ 9.1%YOY ตามลำดับจากการส่งออกไปยังตลาดฮ่องกงและไต้หวันที่เพิ่มขึ้น ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรอย่างข้าว มันสำปะหลัง และน้ำตาลขยายตัว 30.6% 32.9% และ 17.6%YOY ตามลำดับในเดือนสิงหาคมจากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

      มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดหลักต่างหดตัวในเดือนสิงหาคมนี้การส่งออกไปยังตลาดกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นต่างปรับตัวลดลง โดยหดตัว 0.3% 5.7% และ 7.6%YOY ตามลำดับ โดยการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นลดลงจากอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ เช่นเดียวกับการส่งออกไปยังจีนซึ่งในเดือนสิงหาคมปรับลดลงอีก 14.4%YOY ขณะที่ตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสูงอย่างอินโดจีน (CLMV) ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนสิงหาคมขยายตัวถึง 12.6%YOY  

     มูลค่าการนำเข้าหดตัวต่อเนื่องในเดือนสิงหาคมการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนสิงหาคมหดตัวอีกครั้งที่ -21.2%YOY โดยการนำเข้าเครื่องจักรกลและเครื่องจักรไฟฟ้ายังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว โดยหดตัว 16.1% และ10.0%YOY ในเดือนสิงหาคม นอกจากนี้การนำเข้าวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปหดตัวต่อเนื่องโดยลดลง 10.2%YOY ในเดือนสิงหาคม โดยการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปที่ยังคงหดตัวสะท้อนถึงการผลิตและภาวะอุตสาหกรรมในประเทศที่ยังซบเซา 

 Implication

       การส่งออกไทยยังไม่สามารถฟื้นตัวได้การส่งออกไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้หดตัว 1.4%YOY โดยมีปัจจัยสำคัญทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลกและปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน กำลังซื้อที่ยังคงอ่อนแอของเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป และผลกระทบจากการขึ้นภาษีการค้าในญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้การส่งออกสินค้าหลักหลายรายการของไทยยังคงไม่ฟื้นตัว ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์บางรายเริ่มย้ายการผลิตไปยังอินโดนีเซียซึ่งเป็นตลาดส่งออกรถยนต์ที่สำคัญของไทย เพื่อรองรับความต้องการรถยนต์ในอินโดนีเซียที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์ของไทยในระยะต่อไป และเมื่อประกอบกับแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรโดยเฉพาะราคายางที่ยังคงตกต่ำ จะส่งผลให้การส่งออกของไทยในปีนี้และในอนาคตขยายตัวได้ไม่มาก โดยอีไอซีประเมินว่าปีนี้การส่งออกจะขยายตัวเพียงเล็กน้อยประมาณ 1%YOY    

  โดย :    ดร. ชินวุฒิ์ เตชานุวัตร์ ([email protected])วรดา ตันติสุนทร ([email protected]) Economic Intelligence Center (EIC) EIC Online: www.scbeic.com

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!