- Details
- Category: งานวิจัยเศรษฐกิจ
- Published: Friday, 05 September 2014 19:09
- Hits: 5173
'ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ'เดินหน้าผลักดันแก้ปัญหาฟอกเงิน กระตุ้นสถาบันการเงินตื่นตัวโดยเฉพาะธุรกรรมในโลกออนไลน์
ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะประธานจัดงาน International Conference on Financial Criminology ได้ เปิดเผยหลังการประชุมทางวิชาการนานาชาติในครั้งนี้ว่า นักวิชาการไทยและนักวิชาการจากนานาชาติมีความเห็นร่วมกันว่า การแก้ปัญหาอาชญากรรมทางการเงิน การฟอกเงินและการทุจริตคอร์รัปชันนั้นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้นในยุคโลกาภิวัฒน์และไร้พรมแดนทางการเงิน ระบบนิติรัฐ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม สถาบันประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งเจตจำนงทางการเมืองที่แน่วแน่ (Political Will) มีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการทุจริตคอร์รัปชัน
ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า สื่อมวลชนและข้าราชการเป็นสองกลุ่มที่ความน่าเชื่อถือที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันลดลง โดยที่นักการเมืองไม่มีความเปลี่ยนแปลงทางด้านความน่าเชื่อถือมากนัก ขณะที่นักธุรกิจมีความตื่นตัวในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันมากขึ้นอย่างมีนัยยสำคัญ ภาคครัวเรือนมีการติดสินบนเพื่อให้ได้รับบริการพิเศษจากรัฐน้อยลง ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การทุจริตคอร์รัปชันแบบดั้งเดิมเรียกเปอร์เซ็นต์จากการจัดซื้อจัดจ้างได้พัฒนาสู่การคอร์รัปชันเชิงระบบและเชิงนโยบายมากขึ้น
ดร.อนุสรณ์ ได้มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการป้องกันการฟอกเงินโดยเฉพาะในระบบสถาบันการเงินว่า ทางการไทยและอาเซียน (โดยเฉพาะธนาคารกลาง) ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในการกำกับดูแลธุรกรรมทางการเงินผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรศัพท์มือถือ Smart Phone โดยให้บังคับใช้มาตรการต่อต้านการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินต่อการก่อการร้าย สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยและกำหนดยุทธศาสตร์ในการจัดการกับอาชญากรรมทางการเงิน พัฒนาระบบการกำกับดูแลระบบการชำระเงิน กระบวนการต่อต้านการฟอกเงินในสถาบันการเงินเพื่อป้องกันการใช้สถาบันการเงินในการฟอกเงินและสนับสนุนกิจกรรมการก่อการร้าย และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศในการต่อต้านการฟอกเงิน และอาชญากรรมทางการเงินมาตรการในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และลูกค้าของสถาบันการเงินไม่ให้ตกเป็นเหยื่อขบวนการฟอกเงินและอาชญากรรมทางการเงินการดำเนินการต่างๆจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล FATF (Financial Action Task Force) หากเราไม่สามารถมีระบบ กลไก กฎหมายตามมาตรฐานสากลได้ ความเสี่ยงจากการฟอกเงินจะสูงขึ้นและถูกปรับลดอันดับลงขณะนี้ ประเทศไทยมีคะแนนที่ระดับ 6.53 (0 ดีที่สุด 10 แย่ที่สุด) และอยู่ในลำดับที่ 49 จากทั้งหมด 162 ประเทศ ค่อนไปในกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการฟอกเงินสูง ในประเทศอาเซียน ประเทศไทยดีกว่าลาวและเวียดนาม แต่อยู่ในฐานะที่แย่กว่า ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน มาเลเซีย สิงค์โปร์ ขณะที่ พม่าและเขมรไม่มีข้อมูลมากพอที่จะจัดอันดับได้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย