- Details
- Category: สัมภาษณ์พิเศษ
- Published: Friday, 27 October 2017 16:55
- Hits: 19416
สัมภาษณ์พิเศษ: เศรษฐกิจพอเพียง ผ่านมุมมอง...วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
แนวหน้า : โดย...นายยศวัศ เกียรตินันท์
นอกจากประชาชนคนไทยแล้ว ก็ยังมีคนอีกหลายชาติหลายภาษา หรือแม้แต่องค์การสหประชาชาติ...ที่รับรู้และรับทราบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงได้พระราชทานไว้หลายสิบปี...แต่ว่าการที่ใครจะเข้าใจได้ลึกซึ้งและนำไปปฏิบัติได้แค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละบุคคล
"หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงได้ พระราชทานให้คนไทย ซึ่งเป็นหลักคิดที่วิเศษมาก เป็นหลักคิดที่เราสามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลายมิติ ตั้งแต่การดำรงชีวิต การใช้ชีวิตของเราแต่ละคน การทำธุรกิจขององค์กรต่างๆ รวมถึงองค์กรภาครัฐ ชุมชน สังคมก็สามารถ เอาหลักคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ได้"
นี่คือ คำอธิบายของ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย คนปัจจุบัน.ผู้ที่อยู่เบื้องหลังมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และเป็นผู้ยึดหลักคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหัวใจหลักในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย
นายวิรไท ได้กล่าวถึงหลักแนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 ว่า หลักคิดของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหลักที่ธนาคารกลางจะต้องตระหนักอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าธนาคารกลางมีหน้าที่หลัก คือ'การรักษาเสถียรภาพ'ฉะนั้นการรักษาเสถียรภาพจะต้องมองในทั้ง 3 มิติ ที่สำคัญ และเป็นหัวใจของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เมื่อเราดูถึงหัวใจของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะแบ่งออกเป็น 3 เสาหลัก คือ เสาหลักที่ 1 คือ ความสมเหตุ สมผล เสาหลักที่ 2 คือ ความพอประมาณ และเสาหลัก ที่ 3 คือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้เหมาะสม ซึ่งถือเป็นหัวใจหลัก ที่ธนาคารกลางจะต้องใช้ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และทั้ง 3 เสาหลักนี้ จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความ "รู้ลึก รู้จริง และรู้รอบ" และการมี 'คุณธรรม' ที่เหมาะสมด้วย
ดั่งตัวอย่างเช่น เรื่องแรก เรื่องของความสมเหตุสมผล ของการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง ซึ่งจะมีผู้คนมาเกี่ยวข้องจำนวนมากในการตัดสินใจ โดยมีผู้ที่ได้ประโยชน์ และเสียประโยชน์ ในแทบจะทุกๆ เรื่องที่เราตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็มีผู้เกี่ยวข้อง คือ ผู้ฝากเงิน ผู้กู้เงิน และเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ถ้ากรณีสกุลเงินบาทแข็งค่า ผู้นำเข้าก็จะได้ประโยชน์ ในขณะที่ผู้ส่งออก ก็จะรู้สึกไม่ค่อยพอใจ หรืออาจจะเสียประโยชน์บ้าง
ฉะนั้น การทำหน้าที่ของธนาคารกลาง ของธนาคารแห่งประเทศไทย การตัดสินใจในหลายๆ เรื่องจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก และมีผลประโยชน์แตกต่างกันไป ดังนั้นจึงต้องหาจุดสมดุลที่เหมาะสม การคำนึงถึงผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน และคำนึงถึงความสมเหตุสมผล ซึ่งเป็นหน้าที่ เป็นหัวใจอันดับหนึ่งของการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง
มาถึงเรื่องที่สอง คือ เรื่องความพอประมาณ การ ทำหน้าที่ของการพอประมาณ เป็นหัวใจสำคัญของการรักษาเสถียรภาพ ทุกเรื่องไม่มีของฟรีทางด้านของเศรษฐศาสตร์ เพราะฉะนั้นเราจะต้องตัดสินใจโดยคำนึงถึงผลข้างเคียงต่างๆที่เกิดขึ้น ป้องกันไม่ให้ระบบเศรษฐกิจมีการพัฒนาแบบสุดโต่ง เรามีบทเรียนจากวิกฤติในรอบที่ผ่านมา เวลาที่เศรษฐกิจ ขยายตัวเร็ว ราคาสินทรัพย์ปรับขึ้นเร็ว ในระยะสั้นคนอาจจะชอบ เพราะทำให้ได้ผลตอบแทนที่ดี
แต่เรื่องเหล่านี้อาจจะสร้างผลข้างเคียงในระยะยาว ฉะนั้นหลักคิดเรื่องความพอประมาณ เป็นหลักคิดสำคัญ ที่ต้องนำมาใช้ เพื่อรักษาเสถียรภาพ ซึ่งต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลประโยชน์ในปัจจุบัน กับผลประโยชน์ในอนาคต ทำให้หลักคิดเรื่องความพอประมาณเป็นหลักสำคัญมาก
ส่วนหลักที่สาม คือ เรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยในภาวะที่ตลาดเงินตลาดทุนโลกมีความเชื่อมโยงกันสูง มีความผันผวนสูง ทำให้การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบเศรษฐกิจไทย เป็นหัวใจสำคัญของการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง และการสร้างภูมิคุ้มกันสามารถทำได้ในหลายมิติ เช่น ต้องดูให้แน่ใจว่ามีทุนสำรองระหว่างประเทศเพียงพอ สามารถรองรับความผันผวนที่เกิดขึ้นจากตลาดเงินตลาดทุน หรือการเคลื่อนย้ายของเงินทุนภายนอกประเทศได้ เวลาที่เกิดความเคลื่อนไหวของเงินทุน ก็จะได้ไม่เกิดผลกระทบกับคนในประเทศ หรือธุรกิจในประเทศอย่างรุนแรง
ด้านของระบบสถาบันการเงิน ก็จะต้องแน่ใจว่า มีกันชนที่ดี มีทุนสำรองอย่างเพียงพอ มีกฎเกณฑ์การกำกับดูแลที่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการสร้างภูมิคุ้มกัน โดย 3 เสาหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องความสมเหตุสมผล ความพอประมาณ และการสร้างภูมิคุ้มกัน อาจจะเรียกว่าเป็นหัวใจของการทำหน้าที่ของ ธนาคารกลาง ซึ่งทั้งหมดต้องตั้งอยู่บนฐานของความรู้ ที่ต้องรู้ลึก รู้จริง รู้รอบ รู้ทัน เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง และตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม
"หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักคิดที่วิเศษมาก และสามารถประยุกต์ใช้ได้กับวิถีชีวิตของทุกคน การทำงานของแต่ละองค์กร รวมถึงการบริหารจัดการในด้านภาพใหญ่ของประเทศด้วย ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมกับหลักการทรงงาน ตัวอย่างโครงการพระราชดำริที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ได้ทรงดำเนินการตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ท่าน เป็นตัวอย่างที่จับต้องได้ เป็นตัวอย่าง ที่หลายประเทศได้มาศึกษา เป็นตัวอย่างที่จะสามารถช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อไปถึงเป้าหมายของการพัฒนา อย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง"นายวิรไท กล่าวสรุป
'หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงได้พระราชทานให้คนไทย ซึ่งเป็นหลักคิดที่วิเศษมาก เป็นหลักคิดที่เราสามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลายมิติ ตั้งแต่การดำรงชีวิต การใช้ชีวิตของเราแต่ละคน การทำธุรกิจขององค์กรต่างๆ รวมถึงองค์กรภาครัฐ ชุมชน สังคมก็สามารถเอาหลักคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ได้'