- Details
- Category: สัมภาษณ์พิเศษ
- Published: Sunday, 17 September 2017 14:15
- Hits: 6682
อาทิตย์เอกเขนก: 'ยศสรัล แต้มคงคา' ภารกิจเจนฯ 3 ไวไว ในสมรภูมิตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
ไทยโพสต์ : การสานต่อธุรกิจครอบครัวในยามที่การแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี บวกกับปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจ คงสร้างความท้าทายให้กับผู้บริหารยุคใหม่ไม่ใช่น้อย
ในสัปดาห์นี้ จะฉายภาพการทำงานของ 'ยศสรัล แต้มคงคา'ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ทายาทรุ่น 3 ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปภายใต้แบรนด์ 'ไวไว'
หากนับรวมการเข้ามาดูแลกิจการครอบครัว ก็คงเป็นระยะเวลา 7 ปี แต่ก่อนหน้า'ยศสรัล' ระบุว่า ทางครอบครัวอยากให้ทำงานเพื่อหาประสบการณ์นอกบ้านก่อน จึงตัดสินใจไปเรียนรู้เรื่องของกลยุทธ์การตลาดและวิธีการใช้สื่อรูปแบบต่างๆ
แต่หลังจากเข้ามาเป็นหนึ่งในทรัพยากรบุคคลของแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในชื่อ'ไวไว'ก็ไม่ได้หรูหราอย่างที่ใครหลายคนคิด เพียงเพราะมีดีเอ็นเอความเป็นเจ้าของสืบทอดมา ต้องเริ่มด้วยการฝึกงานทั่วไปหลายหน้าที่ เพื่อให้เรียนรู้กระกวนการทำงานเชิงลึกตั้งแต่ต้น
"ในความจริงแล้ว กิจการของไวไวเป็นธุรกิจหลายครอบครัว แบ่งหน้าที่กันตามความถนัดของแต่ละบ้าน การทำงานจึงต้องเน้นปรับตัวเข้าหาคนอื่นให้ได้ เพราะไม่ใช่แค่ธุรกิจเพียงครอบครัวเดียว หากถามว่าแผนระยะยาวมีอะไรเป็นพิเศษไหม ผมคงเน้นเรื่องการคงแบรนด์ไวไวให้เป็นสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในใจคนไทย แม้ว่าเราจะอยู่ลำดับ 2 ของตลาด แต่ก็ต้องเป็นเบอร์ 2 อย่างแข็งแกร่ง รวมถึงการสร้างความพึงพอใจและผลกำไรทางธุรกิจ ส่วนการขยายไปสู่ธุรกิจอื่น ต้องมองหาโอกาสอีกครั้ง อาจมีผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงขึ้นในอนาคต"
สำหรับ ความท้าทายของผู้บริหารหนุ่ม เขาเล่าว่า หลังจากที่เข้ามาทำงาน คงเป็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีช่องทางการรับรู้ใหม่ มากขึ้น ทำให้ลูกค้าจะรู้ข้อมูลมาก เลือกมากกว่าในอดีต ซึ่งหากจะมานั่งมองแบบเดิมคิดแค่ว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ใครก็ทำได้ ใครก็อยากซื้อ คงไม่ใช่อีกแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ประกอบการคนไทยที่เข้ามาเล่นทำให้สินค้าหลากหลาย และเกิดทางเลือกมากขึ้นเท่านั้น แต่แบรนด์ต่างประเทศก็มากขึ้น ต้องหากลยุทธ์มาแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ
หากถามว่า ผู้บริโภคในยุคนี้มองหาอะไรในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สามารถ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ผู้บริโภคระดับบนมีกำลังซื้อ ต้องการความแปลกใหม่ของสินค้า 2.ผู้บริโภคระดับแมสยังคงมองถึงเรื่องความคุ้มค่า ซึ่งตอนนี้ในหนึ่งผลิตภัณฑ์ของไวไวยังตอบโจทย์ทั้งสองกลุ่มควบคู่กันไป ไม่ได้มีตัวสินค้าไฮเอนต์และราคาแพงมาก มาแยกเซ็กเมนต์อย่างชัดเจน
"หัวใจของการที่ทำให้แบรนด์ยังติดตลาดและผู้บริโภคยังเลือกซื้อ ด้วยความที่เป็นสินค้าบริโภค จึงตองเน้นคุณภาพของสินค้า การวิจัย พัฒนาสินค้า การทำตลาด รวมถึงสื่อโฆษณา ควบคู่กับการทำโปรโมชั่น ภาพรวมตลาด สักประมาณ 5 ปีมานี้ สินค้าพรีเมียมของต่างประเทศที่มีกระแสจากออนไลน์เข้ามามากขึ้น ในอดีตจากแค่มีรสชาติต้มยำกุ้ง รสหมูสับ ก็ขายกันไป หรือในแต่ละปีก็ออกรสชาติใหม่ แต่ที่เปลี่ยนชัดเจนคงเป็นการใช้พรีเซนเตอร์กันมากขึ้น
ต้องยอมรับว่า ตลาดไม่ได้โตเหมือนก่อน ที่ทุกแบรนด์เติบโตไปด้วยกัน ตอนนี้ต้องมีแบรนด์ไหนตกไปบ้าง แต่เราก็ต้องรักษามาร์เก็ตแชร์ให้ได้ นั่นเป็นความท้าทายของเรา"
ส่วนไอเดียการทำงาน หนุ่มโอม บอกว่าตนเองไม่ชอบนั่งคิดอยู่ในออฟฟิศ แต่เลือกจะออกไปพบปะผู้คนมากกว่า พอได้พูดคุยด้วยแล้ว ก็จะดูแนวความคิดว่าเป็นอย่างไร ดูว่าคนอื่นคิดอย่างไร หรือบางทีก็หาเวลาออกมาดูตลาดและร้านค้าด้วยตนเอง ซึ่งตอนทำงานได้ 3-4 ปีแรกจะลงพื้นที่บ่อย เพื่อให้ตกผลึกทางความคิด ส่วนมากไอเดียหรือความคิดการทำตลาดก็มาจากร้านค้าและลูกค้า
"ตอนนี้มีพนักงานในสำนักงาน 100 คน แต่หากรวมพีทีที่กระจายตัวอยู่ในจังหวัดต่างๆ ก็คงกว่า 300-400 คน คุณพ่อมักจะสอนผมเรื่องของการดูแลบุคลากรด้วยวิธีเอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ใช่เป็นเจ้าของแล้วทำไรก็ได้ ควรอ่อนน้อมถ่อมตน และรับฟังผู้อื่นอยู่เสมอ ไม่ควรคิดว่าใครเก่งที่สุดคนเดียว ยังไงหลายคนก็ดีกว่าคนเดียวอยู่แล้ว แต่คติประจำใจของผมคงเป็นอะไรที่เรียบง่ายอย่างทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน" ยศสรัลกล่าวปิดท้าย.