- Details
- Category: สัมภาษณ์พิเศษ
- Published: Monday, 14 July 2014 22:19
- Hits: 5677
อีโค+โฟกัส: งานหิน! 'สมชัย สัจจพงษ์' พลิกภาพศุลกากร ล้างคอร์รัปชัน
ไทยโพสต์ : 'ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน'เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นคู่กับสังคมไทยมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเมื่อองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้ระบุถึงดัชนีชี้วัดการคอร์รัปชัน ในปี 2556 ว่า การคอร์รัปชันยังเป็นปัญหาใหญ่ที่ฉุดรั้งการพัฒนาประเทศและการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยกว่า 70% ของ 177 ประเทศทั่วโลก ยังมีปัญหานี้เกิดขึ้นกับภาครัฐในระดับที่ร้ายแรง ซึ่งประเทศไทยเองได้ถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 102 จากปีก่อนอยู่ที่ลำดับ 88 หรือตกลงมา 14 อันดับ ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าห่วง
หากมาย้อนดูภาพการทุจริต คอร์รัปชันในประเทศ หน่วยงานแรกๆ ที่มักจะพบปัญหานี้ คงหนีไม่พ้น "กรมศุลกากร'ที่กำลังตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างหนัก เกี่ยวกับบทบาทการทำหน้าที่ของ "กรมศุลกากร'เพราะมักมีข่าวปรากฏตามหน้าสื่ออยู่ตลอดเวลาถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรอย่างมิชอบ ทั้งการเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะ การเรียกเก็บเงินค่าภาษีสินค้านำเข้าที่ไม่ถูกต้อง
และเรื่องนี้คงเป็นประเด็นร้อน และกลายเป็นภารกิจหลักให้'สมชัย สัจจพงษ์'อธิบดีกรมศุลกากร ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งหมาดๆ หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศออกมาเมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข
'สมชัย'ถือเป็นมือดีของกระทรวงการคลัง ในการดูแลภาพรวมและภารกิจต่างๆ ของกระทรวงตามนโยบายของรัฐบาล ในช่วงที่รับตำแหน่ง'ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)'จึงไม่แปลกที่จะมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านภาษีเป็นพิเศษ เป็นบุคคลที่ไม่เคยมีประวัติด่างพร้อยในการทำงาน
ดังนั้น การเข้ามานั่งคุม'กรมศุลกากร'ครั้งนี้ เชื่ออย่างยิ่งว่า คงมาด้วยความคาดหมายในการ 'ปราบทุจริต คอร์รัปชัน'ด้วยเช่นกัน
'สมชัย'ชี้แจงถึงนโยบายการทำงานภายหลังการเข้ารับตำแหน่ง ว่า ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากรทำการตรวจสอบอย่างเข้มงวดเกี่ยวกับการตรวจสอบสินค้านำเข้าตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) หลังจากที่มีข้อมูลระบุชัดเจนว่า มีการสำแดงราคาสินค้าที่อ้างว่าได้รับสิทธิ FTA ไม่ถูกต้องเป็นจำนวนมาก โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญคือการเลี่ยงภาษีที่ควรจะเสีย
"การตรวจสอบเรื่องนี้ต้องละเอียดมากขึ้น ต้องดูว่าผู้นำเข้าสำแดงประเภทสินค้าใดมา ต้องดูอย่างเข้มงวด ไม่ใช่ว่าสำแดงอะไรมาก็เชื่อหมด โดยกลยุทธ์การตรวจสอบที่สำคัญคือการใช้เครื่องเอกซเรย์ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งในส่วนนี้เรามีรายละเอียดของบริษัทที่นำเข้าสินค้าอยู่แล้วว่า บริษัทแห่งไหนติดเรดไลน์ ก็ต้องตรวจอย่างเข้มข้น คือต้องเอกซเรย์ทั้งหมด 100% จากเดิม 80% ส่วนบริษัทไหนติดกรีนไลน์ ก็ต้องทำการเอกซเรย์สินค้าเช่นกัน แต่อาจไม่ต้อง 100% และต้องสังเกตอีกว่าหากเจ้าหน้าที่เปลี่ยนจากเอกซเรย์เป็นการเปิดตู้สินค้าแทน ก็ให้สงสัยได้เลยว่ามีการสมรู้ร่วมคิดในการนำเข้า ซึ่งได้สั่งห้ามเด็ดขาด!! ว่า ไม่ให้มีการเปิดตู้สินค้า นี่คือกฎ กติกาที่กำหนด เมื่อเรามีเครื่องเอกซเรย์เพียงพอ ก็ต้องใช้ประโยชน์ให้เต็มที่"
ความตั้งใจคือ'การทำให้ภาพของกรมศุลกากรดีขึ้น'การใช้วิธีการทำงานในเชิงรุก ไม่พูดเยอะ คือแนวทางที่วางไว้ แต่การทำงานทั้งหมดจะต้องไม่กระทบผู้ประกอบการที่สุจริตอย่างเด็ดขาด
'สมชัย'ยอมรับว่า ที่ผ่านมามีประชาชนร้องเรียนเรื่องการทุจริตของเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรเยอะมากในทุกช่องทาง โดยตน ในฐานะอธิบดีกรมศุลกากร ยินดีรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมดไปพิจารณาแก้ไข และอยากให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเข้ามาคุยกัน โดยเป้าประสงค์สำคัญคือ'การปกป้องความปลอดภัยของผู้ประกอบการ'
แต่การปกป้องความปลอดภัยดังกล่าว ต้องเป็นไปบนบรรทัดฐานของความถูกต้อง ไม่ใช่การกลั่นแกล้งข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของกรมศุลกากร แม้ว่าจะรับเรื่องร้องเรียนหมด แต่ถ้าส่งคนไปตรวจแล้วพบว่าเป็นการกลั่นแกล้งข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ก็พร้อมจะดำเนินการเต็มที่เช่นกัน นั่นเพราะ "กรมศุลกากร" มีภาพที่ไม่ดีอยู่แล้ว จึงไม่แปลก และไม่ยากถ้าจะมีคนกลั่นแกล้ง "คนเลื่อนขาตนก็มี" เรื่องจริง เรื่องไม่จริงก็มี ต้องไปพิสูจน์กันเป็นรายกรณี
"ยอมรับว่าข่าวคราวการทุจริตคอร์รัปชันในกรมศุลกากรนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ มันสะสมมาเป็นเวลานานแล้ว เมื่อต้องเข้ามาอยู่ตรงนี้ ก็ยินดีที่จะรับทุกปัญหาทั้งหมดมาแก้ไข อาจจะแก้ไม่ได้ทั้งหมดในครั้งเดียว แต่ก็จะทำให้มันลดลง โดยเริ่มแรกมีแผนจะลงไปตรวจการทำงานของเจ้าหน้าที่ศุลกากรตามสนามบินต่างๆ ซึ่งจะไม่มีการแจ้งล่วงหน้า จะไม่บอกว่าลงไปวันไหน หลังจากนั้นก็จะไปตามด่านทั้งหมด เรื่องนี้เคยทำมาแล้วเมื่อ 4 ปีก่อน เมื่อสมัยรับตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร'สมชัยกล่าวอีกหนึ่งประเด็นที่กำลังพิจารณาเพื่อเอามาเสริมทัพการทำงานของ'กรมศุลกากร'และเชื่อว่าจะสามารถช่วยลดปัญหาการทุจริต คอร์รัปชันได้ นั่นคือการดึงระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ ไม่เพียงแต่เป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการแล้ว ยังลดปัญหาความขัดแข้ง การเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะที่เกิดขึ้นบ่อยๆ จากการพบปะเพื่อติดต่อประสานงานกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการอีกด้วย
นอกจากการแก้ไขปัญหาทุจริต คอร์รัปชันแล้ว อีกนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการ เพราะกำลังจะกลายเป็นปัญหากับการทำงานของ'กรมศุลกากร'ในอนาคต นั่นคือปัญหาการขาดแคลนบุคลากร เพราะปัจจุบันอายุเฉลี่ยของเจ้าหน้าที่กรมอยู่ในระดับที่สูงมาก 40-50 กว่าปี ซึ่งเรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) รู้วิกฤติด้านกำลังคนของเราเป็นอย่างดี และได้มีการประเมินในระยะ 10 ปีข้างหน้าว่า จะมีเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรที่เกษียณอายุออกไปอีกกว่า 3 พันคน จากเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 4-5 พันคน ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่น่ากังวลใจอย่างยิ่ง
การจัดองคาพยพให้บุคลากาศุลกากรมีความรู้ความเข้าใจหลักการทำงานของกรมให้มากที่สุดเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ต้องไม่ละเลยเรื่องจิตใจในการให้บริการประชาชนด้วยใจ เพราะในอนาคตเรื่องการให้บริหาร การอำนวยความสะดวกจะกลายมาเป็นหลักสำคัญในการทำงาน
ขณะที่การจัดเก็บภาษี การจัดเก็บรายได้จะเป็นประเด็นรองลงมา แต่!! แม้จะเป็นประเด็นรอง แต่ก็ยังยืนยันจะเดินหน้าจัดเก็บภาษีให้ได้ตามเป้าหมาย เพราะนั่นก็คือ'งาน'ของ'กรมศุลกากร'เช่นเดียวกัน
การตรวจสอบการนำเข้าสินค้าหนีภาษีที่ผ่านมาเคยได้รับการผลักดันให้มีการทำงานอย่างเข้มข้น ก่อนที่จะถูกลดบทบาทเรื่องนี้ลงไปในที่สุด นั่นสะท้อนถึงช่องโหว่หรือการด้อยประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีตามไปด้วย ก็ต้องเข้าไปดูในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในสินค้าที่มีความอ่อนไหว เช่น รถยนต์ เหล็กรีดร้อน ตู้สินค้าจากจีน ตู้เครื่องยนต์เก่า เพราะจากประวัติการเก็บภาษีในอดีตและปัจจุบัน อัตราถูกปรับลดลงไปอย่างไม่มีเหตุผล เราละเลยเรื่องนี้ไม่ได้เพราะภาษีที่ถูกลด หมายถึงเงินที่ต้องนำส่งเข้ารัฐเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ
'สมชัย'ยืนยันว่า ปัญหานี้ต้องเร่งแก้ไขตั้งแต่ฐานราก โดยการเร่งพัฒนาบุคลากรระดับล่างให้ขึ้นมาทดแทนในส่วนที่จะหายไป ซึ่งได้มอบนโยบายให้สถาบันฝึกอบรมของกรมเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรให้รู้ทักษะศุลกากรโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป รู้กฎ กติกาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในวงการศุลกากร และการค้าของโลก ต้องรู้เท่าทันถึงกลยุทธ์ของพวกที่ตั้งใจลักลอบขนสินค้าหนีภาษี หรือลักลอบขนสิ่งที่เป็นโทษต่อสังคม อาทิ ยาเสพติด พืช และสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์
ได้กำชับเรื่องนี้ไปเป็นพิเศษเช่นกัน นั่นเพราะปัจจุบันผู้ลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษี และสิ่งผิดกฎหมายยังมีอยู่ในเมืองไทยเป็นจำนวนมาก หากละเลยก็จะส่งผลกระทบต่ออนาคตของเยาวชนไทยได้ เมื่อเรามีข้อมูลของผู้ไม่หวังดีเหล่านี้ เราต้องดูแลอย่างดีที่สุด เพราะกรมศุลกากรเป็นด่านแรกของประเทศ ถ้าปล่อยให้เข้ามาได้ง่ายก็ไม่ใช่ผลดีแน่นอน รวมถึงได้มีการประสานขอความร่วมมือไปยังอธิบดีกรมศุลกากรและองค์การการบินของแต่ละประเทศที่มีสถิติการลักลอบนำสินค้าผิดกฎหมายเข้าไทยมากที่สุด ให้ช่วยกวดขันประชาชนของเขาด้วย
อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่'สมชัย'ประเมินว่า เมื่อตนเข้ามารับตำแหน่ง'อธิบดี'แล้ว เจ้าหน้าที่หลายส่วนคงกังวลเรื่องการโยกย้าย โดย'อธิบดีกรมศุลกากร'ยืนยันว่า ให้ข้าราชการกรมศุลกากรสบายใจได้ เพราะตนใช้ระบบความดีเข้ามาเกี่ยวข้องในการประเมินหรือวัดผลการทำงาน'ใครทำดีได้ดี'จะดึงคนดีขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ขณะที่'ใครเป็นแกะดำ'ก็จะลงโทษอย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งยังสั่งนายด่าน และลูกด่านทุกแห่ง ห้ามเข้ากรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียง ถ้าไม่ใช่เวรพัก หรือป่วย มีหน้าที่รับผิดชอบอยู่ที่ด่านไหนให้ทำงานเต็มที่ 24 ชั่วโมง แต่ถ้าพบไม่ทำตามหน้าที่ ก็จะถูกเล่นงาน นั่นเพราะ’งานของคุณคือดูแลด่าน ไม่ใช่เข้ามาหาคนโน้นคนนี้’ ได้มีการออกคำสั่งไปแล้ว ส่วนด่านไหนที่มีงานน้อยก็ให้ไปทำงานด้านอื่น เช่น สื่อมวลชนสัมพันธ์ CSR เพิ่มภาพลักษณ์ให้กรมศุลกากร ทำปฏิสัมพันธ์กับทหาร ให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับบทบาทของกรม ปรับปรุงการให้บริการ
นี่เป็น ‘มาตรการใช้เวลาราชการให้เป็นประโยชน์สูงสุด’ก็ถือเป็นอีกมาตรการในการป้องกันการทุจริต
ไม่เพียงแต่งานด้านการปราบทุจริต ปราบโกง’สมชัยงยังเร่งเตรียมความพร้อมในการรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ทั้งการเร่งของบประมาณเพื่อก่อสร้าง ปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพด่านศุลกากรตามแนวชายแดน เร่งพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูล'National Single Window'ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือน ธ.ค.2558 รวมทั้งการเร่งปรับปรุงกฎหมายของกรมศุลกากรที่ยังล้าหลังอยู่มาก โดยเตรียมเสนอเพิ่มเติมใส่ในโรดแม็พของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยต้องมีการแก้ประมวลกฎหมายของกรมทั้งฉบับ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับภาคเอกชน และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนมากขึ้นด้วย
‘สมชัย’ กล่าวทิ้งท้ายว่า "การเข้ามารับตำแหน่งในครั้งนี้ ไม่ได้เข้ามาเพื่อบู๊ล้างผลาญอะไรกับใคร แต่เป็นการเข้ามาอย่างสงบ มาอย่างนิ่มๆ ช้าๆ แต่ถ้าพบมีการทุจริต คอร์รัปชัน ไม่ซื่อตรงในจุดไหน ก็พร้อมจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดทันที".