- Details
- Category: สัมภาษณ์พิเศษ
- Published: Saturday, 05 September 2015 21:15
- Hits: 13903
'สุนีย์ ตริยางกูรศรี' หญิงแกร่ง'ก้าวหน้ากรุ๊ป'ดันธุรกิจเกษตรครบวงจรพันล้านแห่งอีสานใต้ ปูทางอนาคตที่มั่นคงสู่ลูก..หลาน
มติชนออนไลน์ : คอลัมน์ เฉลียงไอเดีย
แม้ภาพรวมส่งออกของไทยปีนี้ติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ตลาดส่งออกโดยเฉพาะยุโรปซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยยังไม่สดใสนัก ทั้งไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี ปัญหาประมงผิดกฎหมาย เศรษฐกิจโลกซบเซา เป็นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ใครหลายคนอาจต้องหยั่งเชิงดูท่าทีชะลอการลงทุนออกไปก่อน แต่สำหรับเธอผู้นี้
นักธุรกิจใหญ่คนหนึ่งแห่งเมืองอุบลราชธานียืนยันจะลงทุนขยายโรงงานไก่สดแปรรูปต่อไป และไม่หยุดยั้งกับตลาดสหภาพยุโรป
นักธุรกิจหญิงแห่งเมืองดอกบัวที่จะพาไปรู้จัก คือ "สุนีย์ ตริยางกูรศรี" ผู้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจก้าวหน้า หรือก้าวหน้ากรุ๊ป
ซีอีโอ แห่งก้าวหน้ากรุ๊ป หรือ "อาม่า" ของลูกหลานและพนักงานเครือก้าวหน้า รวมถึงชาวอุบลฯที่คุ้นเคยเรียกขานคุณสุนีย์ ที่ย่างเข้าสู่วัย 74 ปี แต่หน้าตาและสุขภาพยังอ่อนวัยกว่าเยอะ ยังเดินแคล่วคล่องและหน้าตาสดใส เธอเล่าถึงแผนขยายธุรกิจว่า "จะขยายกำลังการผลิตของโรงงานบริษัท ก้าวหน้าไก่สด จำกัด ซึ่งทำไก่ปรุงสุกเพื่อส่งออกและไก่สดแช่แข็งขายในประเทศมากว่า 20 ปี เบื้องต้นใช้ทุนช่วงแรกไม่ต่ำกว่า 500-1,000 ล้านบาท ลงทุนเครื่องจักรและอาคารเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อส่งออกไปสหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่นอีกเท่าตัว เป็น 6 ตู้คอนเทนเนอร์ จากปัจจุบัน 3 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยแต่ละปีมีมูลค่าส่งออกไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ส่วนขายในประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท ตลาดยุโรปของบริษัทยังปกติดี ไม่มีปัญหาอะไร คนที่ส่งออกมีปัญหาอาจเกิดจากเรื่องไก่มีเชื้อโรค ทำผิดมาตรฐาน"
ถามถึงการขยายส่วนอื่นๆ ของก้าวหน้ากรุ๊ป คุณสุนีย์เผยว่า จะขยายโรงไฟฟ้าของบริษัท ก้าวหน้าพาวเวอร์ ซัพพลาย จำกัด แต่ขอรอความชัดเจนนโยบายรัฐว่าจะให้ผลิตไฟฟ้าแบบโซลาร์เซลล์หรือไม่ ส่วนปัจจุบันบริษัทมีโรงไฟฟ้าชีวมวลใช้แกลบผลิตขายให้รัฐอย่างเดียว เมื่อขยายจะตั้งโรงผลิตไฟฟ้าใกล้โรงเชือดไก่ส่งออกป้อนกระแสไฟเพื่อลดค่าไฟที่เดือนหนึ่งต้องจ่ายไม่ต่ำกว่า 8 ล้านบาท
ปัจจุบันก้าวหน้ากรุ๊ป ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวมีบริษัทในเครือด้วยกัน 7 แห่ง ให้ลูกทั้ง 4 คนซึ่งเป็นรุ่นที่ 2 เข้ามาช่วยบริหาร สุนีย์ไล่เรียงชื่อแต่ละบริษัทพร้อมธุรกิจที่ประกอบการให้ฟังว่า อีก 5 บริษัทในเครือ ประกอบด้วยบริษัท ก้าวหน้าอุตสาหกรรมสัตว์ จำกัด ผลิตอาหารไปเลี้ยงไก่, บริษัท ก้าวหน้าฟู้ด จำกัด เป็นโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป, บริษัท ก้าวหน้าโภคภัณฑ์ จำกัด เป็นโรงงานสกัดน้ำมันรำข้าว, บริษัท ก้าวหน้าโลจิสติกส์ เซอร์วิส จำกัด ประกอบธุรกิจขนส่ง และบริษัท สินทรัพย์ก้าวหน้า จำกัด ซึ่งดูแลโครงการสุนีย์ ทาวเวอร์ เป็นคอมเพล็กซ์ครบวงจรสูง 12 ชั้น เปิดตัวเมื่อปลายปี 2552 มีทั้งห้างสรรพสินค้าซิตี้มอลล์ โรงแรมสุนีย์ แกรนด์ โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ บนเนื้อที่ 15 ไร่
"ธุรกิจที่ทำอยู่เป็นอุตสาหกรรมการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่ผลิตอาหารสัตว์ เลี้ยงไก่ ส่งออกไก่ ทำไฟฟ้าใช้เอง และมีห้างรองรับนำสินค้ามาขาย" สุนีย์เล่าถึงความครบวงจรของธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ในพื้นที่อีสานใต้
แต่กว่าจะเป็น 7 บริษัทผนึกกำลังกันเช่นนี้ สุนีย์เล่าย้อนช่วงเริ่มทำธุรกิจแรกเริ่มว่า เปิดร้านขายวิทยุ แล้วเปลี่ยนเป็นร้านขายเมล็ดพันธุ์พืช ขายอาหารสัตว์ที่รับซื้อผลผลิตทางการเกษตร จากนั้นก็ทำตัวแทนขายลูกไก่ ฟาร์มเลี้ยงไก่ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ไก่ปรุงสุก ไก่แปรรูปส่งออกสู่ตลาดยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลี
"ช่วงแรกเป็นคนบุกธุรกิจเอง จนลูกเรียนจบทีละคนก็ให้มาสานต่อ พอพร้อมก็ค่อยๆ ขยายบริษัทอื่นๆ ด้วยทุนจากก้าวหน้าไก่สด เป็นการต่อยอดธุรกิจ โดยจะฝึกให้ลูกแต่ละคนบริหารกันคนละส่วน พอสบายแล้วจะไม่ทำงานไม่ได้ ทุกคนต้องมีระเบียบมีวินัยการใช้เงิน การทำงานจะวางแผนงานร่วมกัน ทำแบบโปร่งใส ตรวจสอบได้ จึงทำให้ธุรกิจครอบครัวมาถึงวันนี้ได้"
ฟังดูเหมือนธุรกิจราบรื่น แต่คุณสุนีย์ว่าไม่ใช่เลย เพราะครั้งแรกที่ส่งออก ขาดทุนยับเยิน ไม่มีใครมาเป็นคู่ค้า เพราะยังไม่มั่นใจต่อตัวบริษัท จึงตัดสินขายตามราคาที่ลูกค้าต่อรอง ราคาเหลือเท่าไรก็ขายตามนั้น จึงเริ่มได้ขาย ส่งออกปีแรกขาดทุน 60 ล้านบาท ปีที่ 2 เจอเงินบาทอ่อน ส่งออกขาดทุนอีก 30 ล้านบาท ปีที่ 3 เสมอทุน กระทั่งปี 2540 ที่มีการลอยตัวค่าเงินบาท เป็นจังหวะที่แลกเป็นสกุลเงินบาทจึงเกิดผลกำไร "แต่ทั้งหมดมาจากความตั้งใจ ทุกคนทุ่มเท ก็เลยดีได้ถึงทุกวันนี้"
สุนีย์ เปิดเผยว่า แรกเริ่มที่คิดทำธุรกิจนั้นจุดตั้งต้นมาจากคำว่าครอบครัว ต้องการให้ลูกทั้ง 4 คนอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา จึงต้องพาลูกทำธุรกิจ ให้ทุกคนมีความรับผิดชอบในส่วนของตัวเอง ไม่อย่างนั้นลูกจะต้องออกไปทำงานข้างนอก ปัจจุบันลูกทั้ง 4 ก็ช่วยดูแลกิจการ คนโตทำไก่ส่งออก คนที่สองทำโรงแรม ห้างสรรพสินค้า คนที่สามดูโรงไฟฟ้า อาหารสัตว์ โรงงานสกัดน้ำมันรำข้าว และคนสุดท้อง ดูการขนส่ง
ความสนใจและแรงบันดาลใจด้านธุรกิจ อาจเรียกว่าเกิดจากครอบครัวเป็นส่วนสำคัญก็ว่าได้ สุนีย์เล่าว่า เธอเป็นลูกพ่อค้าคนหนึ่งที่ผ่านงานมามาก สมัยก่อนพ่อแม่ทำร้านโชห่วย ทำให้เธอได้ฐานความรู้การค้าขายพอสมควร สามารถวางแผนงานได้ พาลูกๆ ทำธุรกิจมาถึงปัจจุบันได้
นอกจากการให้ความสำคัญกับครอบครัวแล้ว การศึกษาก็เช่นกัน ถือเป็นรากฐานความรู้ช่วยต่อยอดทางธุรกิจได้
"ดิฉันกำพร้าตั้งแต่ 5-6 ขวบ ไม่ได้เรียนสูง เรียนการศึกษานอกโรงเรียนแล้วเทียบวุฒิ เรียนต่อมหาวิทยาลัยจนจบปริญญาทางด้านเทคโนโลยีการเกษตร ราชภัฏอุบลราชธานี"
และด้วยความเข้าใจดีถึงโอกาสทางการศึกษา คุณสุนีย์จึงเปิดพื้นที่ในห้างซิตี้มอลล์จัดงานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้ ฟรี ปีนี้เป็นปีที่ 7 แล้ว โดยเธอเป็นผู้ลงทุนเองเพื่อคืนกำไรสู่สังคม "ถ้าเราดีแล้วยังไม่ช่วยสังคม แสดงว่าเราเห็นแก่ตัว งานที่จัดเพื่อกระตุ้นให้เด็กรักการเขียนอ่าน เรียนรู้ อาจช่วยให้วิถีชีวิตของเขาผันเปลี่ยนได้"
เป็นการทำธุรกิจแบบรับผิดชอบต่อสังคม ให้สังคมคนอุบลฯเติบโตไปพร้อมกับก้าวหน้ากรุ๊ป...